กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เดินหน้าจับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง ประกาศความพร้อมในการป้องปรามและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์แม้ไทยจะไม่หลุดจากโผ PWL ของสหรัฐฯในปีนี้ เผยผลการจับกุมในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2556 พบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ชื่อดังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มูลค่ากว่า 3.16 ล้านบาท
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของ บก.ปอศ. เปิดเผยว่า ทางกองบังคับการจะยังคงรักษานโยบายที่จะปราบปรามซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับการปลดออกจากรายงานพิเศษของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 ในฐานะประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL) ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่จะส่งเสริมการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2556 เป็นปีแห่งทรัพย์สินทางปัญญา
ในช่วงมกราคม-พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา บก.ปอศ. เข้าตรวจค้นพบองค์กรธุรกิจ 94 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 52 เปอร์เซ็นต์ และพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 1,904 เครื่อง เพิ่มขึ้น 114 เปอร์เซ็นต์ มูลค่าความเสียหาย 206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64 เปอร์เซ็นต์
บริษัทจดทะเบียนที่ถูกตรวจค้นในครั้งนี้ถูกพบว่าได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี 2537 ในการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในเครื่องคอมพิวเตอร์ถึง 78 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 3.16 ล้านบาท
ในการตรวจค้นของตำรวจพบว่ากว่า 75 เปอร์เซ็นต์เป็นบริษัทสัญชาติไทย และบริษัทข้ามชาติที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน และ มาเลเซีย
พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าวว่า “เรากำลังจับตามององค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งคาดการณ์ว่ามีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ค่อนข้างสูง นอกจากนี้เรายังได้ตั้งเป้าหมายใหม่ที่จะสอดส่องพฤติกรรมการใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทที่อยู่ในเขตธุรกิจตอนกลางของกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่จงใจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และกลุ่มมีใบอนุญาตการใช้งานที่ไม่ครบกับจำนวนเครื่อง”
บก.ปอศ. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่างใกล้ชิดโดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ตามรายงานพิเศษของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 ซึ่งจะประเมินและจัดอันดับประเทศคู่ค้าแต่ละรายในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการเข้าถึงตลาด (Market Access Practice) เป็นประจำทุกปี
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของผู้พัฒนาจากทั่วโลก โดยบุคคลหรือองค์กรธุรกิจที่พบว่ามีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะมีโทษทั้งจำและปรับ
ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit