รมช. กษ. เปิดงานคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ จ.พิจิตร

17 May 2013

กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง เปิดงานวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่“ฤดูน้ำแดง” ประจำปี 2556 จังหวัดพิจิตร เชิญชวนชาวประมงร่วมตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ พร้อมสงวนพันธุ์สัตว์น้ำที่กำลังอยู่ในช่วงแพร่ขยายพันธุ์

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่“ฤดูน้ำแดง” ประจำปี 2556 ณ แม่น้ำน่านบริเวณหน้าวัดพฤกษะวัน ตำบลบางไผ่ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ว่า ตามที่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้วันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เป็นฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนถือว่าเป็นมาตรการทางกฎหมาย เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำที่กำลังอยู่ในช่วงแพร่ขยายพันธุ์ มิให้ถูกทำลายมากเกินควรนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญการคุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูน้ำแดง จึงได้จัดงานวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ “ฤดูน้ำแดง” ประจำปี 2556

โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อรณรงค์ โฆษณาเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ การปลุกจิตสำนึกให้พี่น้องชาวประมง และประชาชนในบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำน่านได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ ซึ่งนอกจากจะมีขบวนเรือและรถยนต์ตรวจการประมงน้ำจืด รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เดินทางล่องลงมาตามลำน้ำแล้ว ยังได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของฤดูน้ำแดงในรูปแบบต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 โดยได้ดำเนินการประกาศจังหวัดฤดูปลาน้ำจืดมีไข่เป็นการเฉพาะจำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครนายก พังงา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม จังหวัดลำปาง ลำพูน นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม และจังหวัดนราธิวาส พัทลุง ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม ของทุกปี

“กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญการคุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูน้ำแดง ซึ่งช่วงเวลาที่ปลาน้ำจืดมีไข่จะอพยพเพื่อวางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน เป็นช่วงเวลาสำคัญของปลาน้ำจืดในธรรมชาติที่จะได้มีโอกาสผสมพันธุ์แพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ การร่วมสงวนพันธุ์สัตว์น้ำที่กำลังอยู่ในช่วงแพร่ขยายพันธุ์ มิให้ถูกทำลายมากเกินควรนั้น จะส่งผลดีต่อผลผลิตสัตว์น้ำที่จะเกิดเพิ่มขึ้น และทำให้ประเทศไทยได้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำจืดอีกครั้ง” นายศิริวัฒน์กล่าว

-กผ-