สยามเทค รุกสร้าง “ อาชีวะ...มิติใหม่” สู่อนาคตที่สดใสเพื่อเยาวชนรุ่นใหม่

11 May 2013

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

เพื่อเปิดโลกเปิดการเรียนรู้ให้กว้างไกล ด้วยอีกไม่กี่ปี ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) เร่งพัฒนาเตรียมพร้อมบุคลากรและเยาวชนคนรุ่นใหม่ก้าวให้ทันกับโลกยุคใหม่ ทั้งสติปัญญา ทักษะฝีมือระดับมาตรฐานสากล ในสไตล์ ‘รู้จริง...ทำจริง’

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ร่วมมือลงนามสัญญากับหลายหน่วยงานจากประเทศเยอรมนี ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของด้านช่างอุตสาหกรรมและเครือข่ายการศึกษาระบบทวิภาคีนานาชาติ พร้อมกับเปิด ‘ศูนย์เทคโนโลยีและการศึกษาระบบทวิภาคี ไทย-เยอรมัน’ อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการที่จะสร้างรากฐานเยาวชนคนรุ่นใหม่สู่ความสำเร็จในอนาคตอย่างสดใส โดยมุ่งเน้นพัฒนาผลิตบุคลากรด้านช่างอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งอุตสาหกรรมทางด้านขนส่งระบบรถราง อาทิ รถไฟลอยฟ้า (BTS) / รถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) / รถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาผลิตบุคลากรทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องบินและอุตสาหกรรมการเดินเรือ อีกด้วย

ผศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) กล่าวว่า เป็นโอกาสดีของเยาวชนทางด้านช่างเทคนิคฝีมือที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่เติบโตต่อเนื่องได้อย่างทัดเทียมอารยประเทศ

“นับเป็นสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาแห่งแรกที่เปิดหลักสูตร ‘เทคนิควิศวกรรมขนส่งระบบราง’ ที่กำลังได้รับความสนใจในตลาดแรงงานรองรับความต้องการของประเทศขณะนี้ โดยหลักสูตรจะเรียนวิชาการจากผู้ชำนาญการ,ดูงาน และฝึกประสบการณ์จริงไปด้วย มีรายได้และสวัสดิการที่มั่นคง และเมื่อจบแล้วก็สามารถทำงานตามสถานประกอบการต่างๆ ได้ทันที คือจะได้วุฒิตามสาขาที่ร่ำเรียน และยังได้ประกาศนียบัตรเทคนิควิศวกรรมขนส่งระบบราง ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)”

และล่าสุดได้ร่วมลงนามสัญญากับบริษัทซีเมนส์ (Siemens) ซึ่งเป็นบริษัทด้านเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก เพื่อรุกปั้นเยาวชนสู่โลกยุคใหม่ในหลักสูตร ‘เมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics)’ ซึ่งเป็นสหวิทยาการเชิงประยุกต์ที่นำวิชาพื้นฐานหลักว่าด้วยวิศวกรรมเครื่องกล อิเลคทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบและการควบคุม และเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ดังนั้นระบบเมคคาทรอนิกส์ จึงประกอบด้วยกลไกต่างๆ ที่ทำหน้าที่สอดคล้องกันอย่างอัตโนมัติ โดยอาศัยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมด้วยสมองกล

ผศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรเมคคาทรอนิกส์จะศึกษาความสัมพันธ์ของศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อนำความรู้ความเข้าใจไปใช้สร้าง ‘ผลิตภัณฑ์อันชาญฉลาด’ (Smart Product) หรือ ‘ระบบอัจฉริยะ’ (Intelligent Systems) ซึ่งจะมีกลไกที่สามารถทำงานด้วยตัวของมันเองอย่างอัตโนมัติตามความต้องการที่กำหนดไว้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวางในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์กู้ภัย อาคารอัจฉริยะ สมองกลรักษาโรค รวมถึงเทคโนโลยีทางวิศวกรรมสมัยใหม่อื่นๆ อีกมากมาย

“เมคคาทรอนิกส์ เป็นหลักสูตรสำหรับโลกยุคใหม่ โดยจะเน้นที่มีความรอบรู้ในศาสตร์ที่สำคัญทางวิศวกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ระบบควบคุมและเครื่องกล ซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมที่ต้องการระบบการผลิตที่ทันสมัย สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อน หรูหราและมีมูลค่าสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...โดยเน้นการเรียนรู้ ซึ่งทำงานครอบคลุมงานด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้ระบบผลิตมีความทันสมัย แม่นยำ สามารถผลิตชิ้นงานที่มีความซับซ้อน เทคโนโลยีชั้นสูง และมีประสิทธิภาพการใช้งานอย่างสูงสุด

...และเมื่อจบแล้ว สามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ระบบและเครื่องจักรกลอัตโนมัติเพื่อการผลิต หรือประกอบ เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้”

เมื่อทักษะฝีมือทางด้านเทคนิคได้ระดับมาตรฐานสากลกันแล้ว และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ จะมีบทบาทเป็นอย่างมากที่ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเทรนด์ใหม่ในการเรียนรู้ของโลกวันนี้

อมฤต เตชะรัตนะนำชัย วัย 19 ปี กล่าวว่า- - “ยิ่งประเทศจะเข้าสู่เออีซี ผมคิดว่าช่างเทคนิคอย่างพวกเราฝีมือก็ไม่ได้เป็นรองใคร แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมก็เริ่มฝึกแล้วครับ” ต๊อป-หัสดินทร์ เหมทอง วัย 20 ปี กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า- - “ที่สำคัญเราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะรถยนต์สมัยใหม่จะเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งเราต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และต้องเรียนรู้เทคนิคใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ก้าวทันกับโลกยุคใหม่ พร้อมภาษาอังกฤษเราต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วยครับ”

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net