กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
ประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4ดันนโยบายหนุนสิทธิประโยชน์เพื่อแม่และเด็กไทย
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงาน การประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 5 – 7 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้า วรวงค์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศม์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานกรรมการ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2556 การประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4 (The 4th National Breastfeeding Conference) ในปี 2556 มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Smart Breastfeeding Smart Citizens” สื่อถึงคุณแม่ยุคใหม่ที่เข้าใจถึงการให้นมแม่ และการสร้างสังคมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breastfeeding Society) ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าร่วมกว่า 1,000 คน พร้อมไฮไลท์การอภิปรายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวของประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนด้านสิทธิประโยชน์ของแม่และเด็กไทย และผลักดันมาตรการควบคุมกลยุทธิ์ทางการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กให้เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
“ปัจจุบันนี้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรกสูงขึ้น มีผลจากการรณรงค์ประโยชน์ของการให้นมแม่อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ และการสื่อสารในโลกไซเบอร์ เป้าหมายของการขับเคลื่อนภาระกิจ คือ ต้องการให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงขึ้นร้อยละ 50 ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่การขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เป็นนโยบายสาธารณะ การส่งเสริมจากบุคลากรแพทย์และพยาบาลเพื่อให้คำแนะนำกับคุณแม่ตั้งครรภ์ การผลิตบุคลากรแพทย์และพยาบาลให้มีมีทักษะด้านการให้นมแม่และให้คำแนะนำกับแม่ได้อย่างถูกต้อง การสนับสนุนจากภาคเอกชนในการจัดตั้งมุมนมแม่ (Breastfeeding Corner) ในสถานประกอบการเพื่อความสะดวกกับแม่ทำงานในการปั๊มน้ำนมให้ลูก และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้สังคมไทยได้เกิดความตระหนักในการช่วยกันผลักดันให้เด็กไทยให้ได้กินนมแม่ เพื่อเด็กไทยจะได้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ”
แพทย์หญิง ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึง เวทีอภิปรายนโยบายและสิทธิประโยชน์เพื่อแม่และเด็กไทย โดยมีผู้บริหารจากกรมการแพทย์, กรมอนามัย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เปิดเผยถึง ทิศทางการขับเคลื่อนนโยบาย สิทธิประโยชน์ของแม่และเด็กในประเทศไทย ในประเด็นต่างๆ อาทิ สิทธิผู้หญิงลาคลอดเพิ่มขึ้นจาก 90 วันเป็น 180 วัน สิทธิผู้ชายทุกคนสามารถลางานเพื่อไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกและได้รับค่าแรงจากนายจ้าง และขยายเวลาสิทธิพ่อลาคลอดจาก 15 วัน เป็น 30 วัน แม่ลาคลอดได้รับสิทธิประกันสังคมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันแม่ยุคใหม่จำเป็นต้องตระหนักรู้ในสิทธิการลาคลอดบุตร
นอกจากนี้ การเปิดเวทีอภิปราย “Why Code of Marketing of Breast-milk Substitutes” มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการจุดประกายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความตระหนักในการปกป้องคุ้มครองสิทธิแม่และเด็ก และมีส่วนสำคัญในการผลักดันมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการควบคุมเป็นเพียงการขอร่วมมือโดยใช้มาตรการสมัครใจ ไม่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบใดมีผลบังคับใช้
“ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการควบคุมกลยุทธิ์การโฆษณานมผงดัดแปลง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสำเร็จ แม่ทุกคนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจใช้อาหารเลี้ยงลูก และผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากการโฆษณาที่เกินจริงให้น้อยที่สุด” แพทย์หญิงยุพยง กล่าว
ผู้เข้าร่วมงานการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ จะได้เข้าร่วมฟังปาฐกาถา Smart Breastfeeding – Smart Citizens โดย นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวพลา และบรรยายพิเศษ ได้แก่ กลยุทธิ์การสื่อสารการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วนมแม่สู่ความสำเร็จ, Breastfeeding Movement on Global and Country Level, Do it Smart: Breastfeeding Service เป็นต้น นอกจากนี้มีการเปิดเผยงานวิจัยชิ้นแรกของประเทศไทยเรื่องสุขภาพเด็กไทยที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นอย่างไร, นมแม่จะป้องกันปัญหาเด็กอ้วนหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้อย่างไร รวมถึง เวิร์คช้อป Lactation Spa และนิทรรศการสังคมไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net