สยามคูโบต้า จัดงานแข่งขันรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 “ทีมช่างโรจน์-ทีมลั่นทุ่ง” ครองแชมป์เจ้าความเร็วรถไถ คว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไปครอง

05 Apr 2013

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต

สยามคูโบต้า จัดประลองความเร็วรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สนามแข่งภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีทีมท้าประลองทั้งสิ้น 14 ทีมจากจังหวัดภาคกลางตอนเหนือ และจังหวัดใกล้เคียง เข้าชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลอื่นๆ มูลค่ากว่า 4 แสนบาท

เมิ่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ และชมรมกรรมการกีฬายานยนต์ไทย ร่วมกันจัดการแข่งขันรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ สนามแข่งภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยมี นายฮิโรชิ คาวาคามิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นายวิทยา พลศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ นายไพรัช เงินมีศรี ประธานชมรมกรรมการกีฬายานยนต์ไทย และนายวีรศักดิ์ นิลกลัด ที่ปรึกษาการจัดการแข่งขัน ร่วมเปิดการแข่งขันฯ โดยได้รับเกียรติจากนายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน

นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดกล่าวว่า “การจัดการแข่งขันรถไถทางเลนชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 2 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะได้รับการตอบรับอย่างดี มีเกษตรกรร่วมงานมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องมาจากการแข่งขันในปีนี้มีความพิเศษคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้แข่งขัน และมีการยกระดับการแข่งขันให้มีมาตรฐานเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดโซนกิจกรรมพิเศษสำหรับลูกค้าและผู้เข้าร่วมงาน โดยใช้ชื่อว่า KUBOTA EXPO จัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้าทุกรุ่นทุกแบบ พร้อมสาธิตการใช้งานและการฝึกขับเครื่องจักรกลการเกษตรโดยมีทีมงานคอยให้คำปรึกษาและความรู้ด้านการใช้งานตลอดทั้งวัน รวมถึงจัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตรนวัตกรรมสำหรับอนาคต ที่แสดงให้เห็นถึงความทันสมัยและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของสยามคูโบต้าให้ผู้เข้าชมงานทุกท่านได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 3,000 คน”

สำหรับผลการแข่งขันในรุ่น Open ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมช่างโรจน์ จากจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมเครื่องยนต์ RT140Plus Thunder 1 เครื่อง และ รถไถเดินตาม NC Plus 1 คัน ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีมช่างเต้ย ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเครื่องยนต์ดีเซล RT140Plus Thunder 1 เครื่อง รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีมสหายลูกทุ่ง ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเครื่องยนต์ดีเซล RT125 Plus Thunder 1 เครื่อง และ รองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ทีมบึงสามัคคี ได้รับถ้วยรางวัลเงิน และเงินรางวัล 10,000 บาท รถไถเดินตาม ตราช้าง NC Plus 1 คัน

ส่วนผลการแข่งขันในรุ่น Standard รางวัลชนะเลิศได้แก่ ทีมลั่นทุ่ง คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมเครื่องยนต์ดีเซล คูโบต้า RT125DI Plus Thunder 1 เครื่อง รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีมดงกระทิง รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีมบึงปลาทู และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ทีมบึงสามัคคี ได้รับถ้วยรางวัล และเงินรางวัล 15,000 , 10,000 และ 8,000 บาท ตามลำดับ

สำหรับการประกวดไถรุ่นสวยงามทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ดงข้าวเหนียว ได้รับถ้วยรางวัล และเงินสด10,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีมลั่นทุ่ง รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีมช่างรงค์ ได้รับเงินสด ทีมละ 10,000 บาท

ภายในงานได้มีการจัดพิธีรับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพิธีมอบรางวัลอื่นๆ ให้แก่ทีมชนะการแข่งขันครั้งนี้ โดยมีพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตอธิบดีกรมตำรวจให้เกียรติร่วมในพิธีดังกล่าว ทำให้บรรยากาศงานจบลงด้วยภาพความประทับใจอันยิ่งใหญ่ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีทั่วสนามแข่งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การแข่งขันรถไถทางเลน เป็นกีฬาที่เกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนนิยมแข่งขันกันในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อประชันความแรงของเครื่องยนต์ โดยการนำรถไถนาเดินตามพร้อมเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในการทำนามาแข่งกัน โดยการแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นประมาณ 10-15 สนามต่อปี มีผู้ชมเฉลี่ยในแต่ละสนามประมาณ 2,000-5,000 คน นับได้ว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ภาคเกษตรกรรมไทย

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net