สธ. เดินหน้าโครงการอาหารปลอดภัย ปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก หลังพบข้อมูล เด็กป่วยโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนมากที่สุด

02 Apr 2013

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย

ข้อมูลชี้!! แหล่งอาหารเป็นพิษที่สำคัญ คือ อาหารโรงเรียนโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนามีรายงานเด็กเกิดอาหารเป็นพิษได้สูงถึงประมาณ 5 ครั้งต่อปี สำหรับประเทศไทยในแต่ละปีจะมีเด็กนักเรียนและเด็กเล็กที่ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น กรณีหามส่งเด็กนักเรียนชาย หญิง ซึ่งเดินทางมาเข้าค่ายลูกเสือที่ จ.สระบุรีกว่า 400 คน เข้าโรงพยาบาล เมื่อเดือนธันวาคม 55 ที่ผ่านมา เนื่องจากอาหารเป็นพิษ หรือเมื่อกลางเดือน กรกฎาคม55 กรณีที่เด็กกินไข่ต้มแก้บนแล้วป่วยโรคท้องร่วงทั้งหมด 460 ราย ที่ จ.เชียงใหม่ สธ.จึงเดินหน้าแก้ปัญหา จัดโครงการอาหารปลอดภัย ปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ตั้งเป้าลดป่วยโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2556

นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวมอบนโยบายภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “โครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ที่โรงแรมอมารีดอนเมืองกรุงเทพฯว่า ในแต่ละปีประเทศไทยจะมีเด็กนักเรียนและเด็กเล็กที่ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงเป็นจำนวนมาก โรคนี้จะพบในเด็กได้สูงกว่าวัยอื่นๆ เพราะแหล่งอาหารเป็นพิษที่สำคัญ คือ อาหารโรงเรียนโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา มีรายงานเด็กเกิดอาหารเป็นพิษได้สูงถึงประมาณ 5 ครั้งต่อปี ทั้งนี้ในปี 2554 พบว่ามีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 102,562 ราย เสียชีวิต 2 ราย จากทั้งหมด 74 เหตุการณ์ โดยพบในโรงเรียนมากที่สุด 23 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 405 ราย และยังพบอีกว่าประชากรอายุระหว่าง 0-4 ปี และ 5-9 ปี มีอัตราป่วยสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น

สำหรับข้อมูลปี 2555 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบสถานการณ์การระบาดจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่สำคัญ ได้แก่ 1) โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมีผู้ป่วย 1,221,297 ราย จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 35 ราย 2) โรคอหิวาตกโรคมีผู้ป่วย 45 รายจาก 16 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต 3) โรคอาหารเป็นพิษมีผู้ป่วย 118,754 ราย จาก 77 จังหวัดและ เสียชีวิต 1 ราย เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของเด็ก รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาของผู้ปกครอง ในปี 2556 นี้กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายอาหารปลอดภัย ลดโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกจังหวัด ให้มีการทำงานที่เข้มข้นและต่อเนื่องตลอด 4 ปีตั้งแต่ปี 2556 -2559 เพื่อลดอัตราป่วย ตายและผลกระทบจากการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษให้เหลือน้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) เป็นเจ้าภาพบริหารจัดการดำเนินงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว และได้จัดทำเป็นโครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น และมีการดำเนินโครงการฯนี้ในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด(ยกเว้น กทม.) โดยมีการตั้งเป้าให้โรงเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) เกิดการบริหารจัดการอาหารปลอดภัย ลดโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 15,260 แห่ง ภายในปี 2556 นี้

ด้าน นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการจัดสัมมนา“โครงการอาหารปลอดภัยปลอดโรคในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก”เป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการอาหารปลอดภัย ลดโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการเมื่อมีอุบัติการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นแบบบูรณาการ ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ได้แก่ ทีมงานอาหารปลอดภัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย สำนักงานป้องกันควบคุมโรค โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การผลิต การจำหน่าย และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยในความรับผิดชอบของโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งการป้องกัน/แก้ไขปัญหา/ตอบสนองต่อปัญหาด้านโภชนาการควบคู่ไปกับ การดูแลด้านความปลอดภัยอาหารทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตและมีสุขภาพดีเหมาะสมตามกลุ่มวัย

นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) กล่าวเสริมว่า ภายในปี 2556นี้จะมีการจัดโครงการฯนำร่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ นนทบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ภูเก็ต เพื่อเป็นการสร้างโมเดลแลกเปลี่ยนและระดมความคิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งหาแนวทางการดำเนินงานแผนรับมือความปลอดภัยด้านอาหาร การสอบสวนโรคอาหารเป็นพิษ การประเมินความเสี่ยง และการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วงเป็นโรคที่ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่าย จึงขอความร่วมมือให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการดูแลด้านสุขาภิบาล สุขลักษณะของโรงอาหาร และความปลอดภัยในการปรุงประกอบอาหารอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านความสะอาดของโรงเรือน วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ และตัวผู้ปรุงอาหาร ที่สำคัญควรเลือกประกอบอาหารที่สุกใหม่ให้เด็กได้รับประทาน ไม่ควรปรุงอาหารทิ้งค้างไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้อาหารบูดเสีย และเกิดโรคอาหารเป็นพิษต่อเด็ก รวมทั้งโรงเรียนควรต้องฝึกการดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กด้วย เช่น การล้างมือก่อนกินอาหาร การจัดบริการส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจากโรค

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.)

โทรศัพท์ 0 2965 9730 / 0 2951 0000 ต่อ 99985

โทรสาร 0 2588 3020

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net