ปภ.จัดประชุมแก้ไขปัญหาภัยแล้งและไฟป่าหมอกควัน 8 จังหวัดภาคเหนือ 1 เม.ย.56

01 Apr 2013

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ปภ.

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยจากไฟป่าและหมอกควัน ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2556 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง) เป็นประธานการประชุม เพื่อเร่งรัดให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งภัยจากไฟป่าและหมอกควันเกิดผลในทางปฏิบัติและลดผลกระทบ ต่อประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและปัญหาหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง) รับผิดชอบติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ดังนั้น เพื่อเร่งรัดให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยจากไฟป่าและหมอกควันเกิดผลในทางปฏิบัติและลดผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของรัฐ ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ ได้กำหนดจัดประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยจากไฟป่า และหมอกควัน ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2556 เวลา 14.00 น. ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง) เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก) ปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน และพะเยา รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมจะได้ร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ ภาคเหนือ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายควบคุมมิให้มีการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รุนแรงมากขึ้น รวมถึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการที่เน้นการจัดการในมิติเชิงพื้นที่เพื่อลดผลกระทบและควบคุมมิให้สถานการณ์ภัยรุนแรง -กภ-