กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีรับมอบตำแหน่งเมืองหนังสือโลก 2556 จากกรุงเยเรวานสู่กรุงเทพมหานคร และกิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒธรรมเมืองหนังสือโลก โดยมี Mr.Gwang-Jo Kim ผู้แทน UNESCO Ms.Transvin Jittidecharak ผู้แทน InternationaPublishers Association (IPA) Mrs.Francoise Dubruille ผู้แทน International Federation of Library Associations and Institutions (IFLA) ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ผู้แทน International Booksellers Federation (IBF) Mrs.Hasmik Poghosyan ผู้แทน Yerevan World Book Capital 2012 Mrs.Koko Kalango ผู้แทน Port Harcourt World Book Capital 2014 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ทูตานุทูต ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธี ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ภายในงานมีการแสดงเปิดงาน ชุด “พระจักรารามาวตาร” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของพระนารายณ์อวตารลงมาเพื่อปราบหมู่มาร ผ่านการผสมผสานศิลปะการแสดงชั้นเลิศในวัฒนธรรมไทย ได้แก่ โขน หนังใหญ่ และหุ่นละครเล็ก โดยสะท้อนถึงความร่วมเย็นของพสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลา 231 ปี ภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และวรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในมหากาพย์ของโลกตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก ชมขบวนแห่พระอินทร์ประทับบนราชรถ เพื่อสื่อถึงความหมายและสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร พร้อมเหล่าเทวดานางฟ้าที่นำผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธี ขึ้นเวทีเพื่อรับมอบตำแหน่งเมืองหนังสือโลก ปิดท้ายด้วยการแสดงชุด “สีสันแห่งอักษร กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก 2556” การแสดงนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์ร่วมสมัย ผนวกกับมัลติมีเดีย พร้อมด้วยการแสดงบทเพลง “เราจะเป็นนักอ่าน” จากคณะเยาวชนกรุงเทพมหานคร และการแสดงของ Yerevan World Book Capital 2012 และ Port Harcourt World Book Capital 2014
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกจาก UNESCO ให้เป็นเมืองหนังสือโลก 2556 (World Book Capital 2013) ถือเป็นเมืองหนังสือโลก อันดับที่ 13 ต่อจากกรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย โดยต้นกำเนิดของเมืองหนังสือโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) จะมอบรางวัลแก่เมืองที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการปีละหนึ่งเมือง ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ด้วยหนังสือในระดับนานาชาติให้สอดคล้องกับการเฉลิมฉลองให้วันที่ 23 เมษายนของทุกปีเป็น “วันหนังสือและลิขสิทธิ์โลก” นับเป็นกุศโลบายที่สำคัญ และได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งยูเนสโกต้องการให้ทั่วทั้งโลกส่งเสริมให้เกิดการอ่าน การจัดพิมพ์หนังสือและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาผ่านความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ จึงจัดให้มีการมอบรางวัล “เมืองหนังสือโลก” ขึ้น สำหรับคุณสมบัติของเมืองที่สามารถเข้าแข่งขันเป็นเมืองหนังสือโลกจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้
1.ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน 2.ต้องจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นการจัดกิจกรรมมหกรรมเกี่ยวกับหนังสือขนาดใหญ่ 3.มีโครงการสนับสนุนทั้งการพัฒนาหนังสือและการอ่าน 4.มีการส่งเสริม สนับสนุน เสรีภาพทางความคิด การแสดงออกและการจัดพิมพ์หนังสือ 5.มีแผนเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายและแหล่งทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างชัดเจน 6.มีแผนงานและโครงการที่จะดำเนินงานระหว่างปีที่จะได้รับการคัดเลือกและ 7.การดำเนินงานหลังจากได้รับการคัดเลือกแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต้องมีแผนงานรองรับชัดเจน โดยคณะกรรมการตัดสินเมืองหนังสือโลกซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) สหพันธ์ผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ (IBF) สหพันธ์สมาคมและสถาบันห้องสมุดนานาชาติ (IFLA) และองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้เหตุผลในการคัดเลือกว่า กรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นที่จะนำภาคีเครือข่ายวงการหนังสือทุกส่วน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาการอ่าน
ใช้ 9 พันธกิจ กระตุ้นคนไทยรักการอ่าน ตั้งเป้าอ่านเพิ่ม 10 – 15 เล่มต่อปี
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 90 องค์กร ตั้ง “ภาคีการอ่านกรุงเทพฯ” ขึ้น พร้อมร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการอ่าน ภายใต้แนวคิด Bangkok Read for Life เพราะต้องการสร้างเสริมรากฐานวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งในสังคมไทย อาทิ การจัดตั้งหอสมุดเมือง (City Library) พิพิธภัณฑ์ประวัติหนังสือไทย (Thai Literary Museum) ศูนย์วิจัยหนังสือและการอ่านแห่งประเทศไทย การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย โดยกรุงเทพมหานครตั้งเป้าผลักดันให้คนไทยหันมาสนใจอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10 – 15 เล่ม/คน/ปี จากเดิมที่คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียงปีละ 5 เล่ม/คน/ปี เท่านั้น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน พร้อมนำเสนอพันธกิจ 9 ประการ ที่แสดงถึงเจตจำนงในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง ประกอบด้วย 1.แปลงโฉมศาลาว่าการกรุงเทพมหานครสู่ “พิพิธภัณฑ์เมืองและหอสมุดเมือง” 2.จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย” เพื่อส่งเสริมจินตนาการ สร้างสรรค์ความคิดนอกกรอบให้แก่คนทุกเพศวัย 3.สร้างวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการคิด 4.ส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชน ปลูกฝังค่านิยมรักการอ่านให้แก่อนาคตของชาติ 5.ตามหาวรรณกรรมสำหรับคนกรุงเทพฯ เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงใจสร้างแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิต 6.ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ เพื่อการคิดที่เป็นระบบคิดเป็นวิทยาศาสตร์ 7.สนับสนุนการอ่านหนังสือพัฒนาจิตใจ เพื่อพัฒนาความคิด ยกระดับจิตใจ สร้างสังคมไทยสันติสุข 8.ผนึกกำลังเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่องไปไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างรากฐานวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน 9.เตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพ IPA Symposium 2014
สำหรับท่านที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โทร. 0 2245 5405 และติดตามข่าวสารของกิจกรรมเมืองหนังสือโลก สามารถติดตามได้ทาง www.bangkokworldbookcapital2013.com และทาง www.facebook.com/bkwbc2013-กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit