พีบีอาร์ยู แอร์เรียล มิชชั่น ทีม (PBRU AERIAL MISSION TEAM) จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

25 Apr 2013

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี

นิสิต นักศึกษาไทยพัฒนาทักษะความรู้ด้านหุ่นยนต์ เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแข่งขัน ภายใต้หัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน”

นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นในการแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติที่พวกเขาสร้างขึ้น โดยพีบีอาร์ยู แอร์เรียล มิชชั่น ทีม (PBRU AERIAL MISSION TEAM) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติชิงแชมป์ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” ทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด จำนวน 100,000 บาท และถ้วยรางวัลเกียรติยศจากพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ

การแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติชิงแชมป์ประเทศไทย จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กองทัพอากาศ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเพื่อให้พวกเขาศึกษาและค้นคว้าข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ การพัฒนาเครื่องบินและอากาศยานอัตโนมัติ“ การแข่งขันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมนิสิต นักศึกษาไทย เพื่อก้าวเข้าสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูงต่อไป นอกจากนี้ ทางคณะผู้จัดการแข่งขันยังต้องการสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษาเหล่านี้พัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์บินไร้คนขับเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่อากาศยานไร้คนขับต่อไป

นิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศต่างได้รับประโยชน์ทั้งในด้านความสนุกสนานและ การมีโอกาสปฏิบัติจริง การแข่งขันหุ่นยนต์บินช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมพวกเขาสำหรับการศึกษาและการประกอบอาชีพในอนาคต

“เราเชื่อว่าศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์จะนำมาซึ่ง ความแตกต่างแก่ประเทศไทย และเมื่อผสมผสานกับนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เข้าแข่งขัน ทุกทีม จึงเป็นพลังอันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เราได้เห็นจากการแข่งขันในครั้งนี้” รองศาสตราจารย์ ดร.ภูดิส ลักษณะเจริญ ประธานจัดการแข่งขัน เลขานุการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และหัวหน้าวิจัยสาขา Dynamics and Robotics แห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมคำนวณและทดสอบขั้นสูง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าว “เรารู้สึกประทับใจในนวัตกรรมที่ทุกทีมได้พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ เราขอขอบคุณบริษัทซีเกทและกองทัพอากาศซึ่งให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อจุดประกายความสนใจในด้านหุ่นยนต์และวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนไทย” รองศาสตราจารย์ ดร.ภูดิส กล่าวเสริม

การแข่งขันท้าทายบรรดานิสิต นักศึกษาไทยในการสร้างหุ่นยนต์บินไร้คนขับซึ่งจะเข้าร่วมการแข่งขันภายในระยะเวลา 8 นาที โดยบริษัทซีเกทฯ ได้สนับสนุนเงินทุนสำหรับจัดการแข่งขันและเป็นเงินรางวัลรวม1,700,000 บาท ให้แก่ทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ขณะที่กองทัพอากาศมอบรางวัลสุดพิเศษคือ ถ้วยรางวัลเกียรติยศจาก พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมกับนำทีมที่ได้รับรางวัลเยี่ยมศึกษาดูงาน เครื่องบินรบที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย ณ ฐานบินของกองทัพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อต่อยอดความคิดต่อไป

ในการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะต้องพัฒนาหุ่นยนต์จำนวน 2 ประเภทคือหุ่นยนต์บินอัตโนมัติ จำนวน 1 ตัวและหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือ จำนวน 1 ตัว โดยหุ่นยนต์บินอัตโนมัติจะเข้าแข่งขันในสนามเปิดโล่ง ภายนอกอาคาร ส่วนหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือจะเข้าแข่งขันในสนามแข่งขันภายในอาคาร หุ่นยนต์บินอัตโนมัติจะต้องบรรทุกลูกกอล์ฟ จำนวน 1 ลูกก่อนออกจากจุดเริ่มต้น และต้องนำลูกกอล์ฟไปปล่อยในบริเวณที่กำหนดและบินไปยังจุดลงจอดที่กำหนด สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือ ผู้บังคับหุ่นยนต์บินแบบบังคับด้วยมือจะต้องควบคุมหุ่นยนต์อยู่ในห้องควบคุม (Manual Control Room) โดยจะทำการควบคุมระยะไกล ซึ่งผู้ควบคุมสามารถมองเห็นสนามได้จากทางจอควบคุมของทีมเท่านั้น และบังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่ผ่านอุปสรรคต่างๆ เมื่อหุ่นยนต์บินบังคับด้วยมือเข้าถึงเส้นชัย จะต้องทำการเจาะลูกโป่งให้แตก โดยใช้เข็มเจาะเท่านั้น เพื่อหยุดเวลาการแข่งขันของทีมตนเอง การแข่งขันนี้เป็นการทดสอบความสามารถของผู้เข้าแข่งขันในการสร้างหุ่นยนต์ซึ่งสามารถบินได้โดยอัตโนมัติ โดยใช้ระบบการนำร่องแบบดาวเทียมหรือเทคโนโลยี แมชชีน วิชั่น(machine vision)

“ผู้เข้าแข่งขันใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือแม้กระทั่งหลายเดือนในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาหุ่นยนต์บินของพวกเขา นอกจากประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น พวกเขายังได้ฝึกฝนการทำงานร่วมกันเป็นทีม” นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทยและปีนัง บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “นอกจากความมั่นใจในตนเอง พวกเขายังได้มีโอกาสทดลองแก้ปัญหาทางด้านวิศวกรรม นอกจากนี้ การแข่งขันนี้ยังดึงดูดความสนใจของเยาวชนไทยในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์

“ทางบริษัทซีเกทรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการอันสร้างสรรค์ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย การที่มีนิสิต นักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมการแข่งขันนี้แสดงให้เห็นความสำเร็จของโครงการ และทำให้เรามีความยินดีที่จะสนับสนุนการแข่งขันในปีต่อไปเนื่องจากซีเกทมุ่งเน้นในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของเยาวชน ในขณะที่โน้มน้าวให้พวกเขาทุ่มเทความรู้ความสามารถเพื่อความสำเร็จในอนาคต” นายไนการ์ดกล่าวเสริม

หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติชิงแชมป์ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” กรุณาเข้าไปที่ http://www.tamech.com

นายวชิรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ หัวหน้าทีมบีอาร์ยู แอร์เรียล มิชชั่น ทีม (PBRU AERIAL MISSION TEAM) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์บินอัตโนมัติชิงแชมป์ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “ภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน” ทีมชนะเลิศได้รับรางวัลเงินสด จำนวน 100,000 บาท และถ้วยรางวัลเกียรติยศจากพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้สัมภาษณ์ตามข้อมูลดังต่อไปนี้

1. เทคนิคในการพัฒนาหุ่นยนต์บินทั้งแบบอัตโนมัติและแบบบังคับด้วยมือ

ในการพัฒนาหุ่นยนต์บินแบบอัตโนมัติ มีภารกิจ คือ บินไปทิ้งลูกกอล์ฟในบริเวณที่กำหนด แล้วลงจอดในบริเวณที่กำหนดโดยอัตโนมัติ (ไร้คนควบคุม) ดังนั้น ทางทีมจึงต้องเน้นหนักในการออกแบบตัวเครื่องบิน ให้สามารถทำภารกิจต่าง ๆ ตามกติกาที่กำหนด พัฒนาตัวบอร์ด คอนโทรลเลอร์ที่ใช้ การกำหนดระบบการทำงาน การปรับค่าการต้านทานกระแสลม รวมทั้งการกำหนดพิกัดของจีพีเอส

ส่วนการพัฒนาหุ่นยนต์บินแบบบังคับด้วยมือ มีภารกิจคือบินข้ามสิ่งกีดขวางและสอดแนม เพื่อตอบคำถามภาพปริศนาที่อยู่ในอุโมงค์ การออกแบบเครื่องบินเพื่อเข้าแข่งขันจะต้องครอบคลุมการทำงานของใบพัดทั้ง 4 ใบ ถ้าด้านใดด้านหนึ่งหยุดการทำงานก็จะทำให้เสียการทรงตัวได้ ทางทีมใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อสร้างหุ่นยนต์บินแบบบังคับด้วยมือ โดยมีการออกแบบและผลิตเองทั้งหมด เพื่อความคล่องตัวของเครื่องบินและให้ได้สเป็คตามที่ต้องการ

2. ทักษะที่ได้รับจากการเข้าร่วมการแข่งขัน

การเข้าร่วมการแข่งขันทำให้สมาชิกในทีมมีโอกาสได้พบปะกลุ่มคนที่สนใจการพัฒนาเครื่องบิน ได้แลกเปลี่ยนความรู้และกระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์บินที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้ทักษะในการทำงานเป็นทีมเนื่องจากการสร้างหุ่นยนต์บินต้องใช้ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้านมารวมกัน โดยมีการร่วมกันวางแผนงานและมีการแบ่งหน้าที่กันตามความถนัดของแต่ละคน การแข่งขันนี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาสนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาหุ่นยนต์บินของพวกเราให้มีศักยภาพสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

3.ทางทีมมีเป้าหมายว่าจะพัฒนาหุ่นยนต์บินในด้านใดบ้าง สำหรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ทางทีมมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มความเสถียรของหุ่นยนต์บิน ตลอดจนปรับปรุงเครื่องบินให้มีความต้านทานสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th

กองทัพอากาศ

กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศ โดยได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือแบ่งออกเป็น 3 วิทยาเขตคือ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร วิทยาเขตระยองและวิทยาเขตปราจีนบุรี

ซีเกท

ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ http://www.seagate.com

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net