กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--แกรนท์ ธอร์นตัน
ทัศนคติด้านบวกของนักธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจาก 35% เป็น 48% จากผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) ซึ่งจัดทำการสำรวจธุรกิจกว่า 3,000 แห่งรายไตรมาสใน 44 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย รายงาน IBR ได้เปิดเผยว่านักธุรกิจไทยมีทัศนคติด้านบวกเพิ่มสูงขึ้นจาก 40% เป็น 42%
นอกจากนี้ รายงาน IBR ยังพบว่าธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกที่วางแผนขยายการจ้างงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 43% จาก 38% โดยที่ประเทศไทยเป็นอันดับที่สองจากทั่วโลกที่ธุรกิจจะขยายการจ้างงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 72% (จาก 68%) ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกที่วางแผนขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานให้เท่ากับหรือสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มสูงขึ้นจาก 60% เป็น 76% -- โดยในประเทศไทย ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 52%
ในส่วนของธุรกิจที่คาดว่าจะขึ้นราคาสินค้าเนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อ รายงาน IBR พบว่า 42% ของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะดำเนินการดังกล่าว (เพิ่มขึ้นจาก 37%) หากทว่าในประเทศไทย ธุรกิจที่คาดว่าจะขึ้นราคาสินค้าลดลงจาก 54% เป็น 44%
เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยและอาเซียน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังแฝงด้วยข้อควรพิจารณาที่สำคัญบางประการ โดยบริษัทควรต้องพัฒนาความสามารถในการผลิตในแทบทุกด้านเพื่อประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในขณะที่ใช้ต้นทุนที่ลดลง อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกจากผลการสำรวจคือ บริษัทจะเฟ้นหาบุคลากรระดับผู้นำได้ยากขึ้น และจะต้องอาศัยการวางแผนการถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานให้แก่ผู้ที่สืบทอดสายงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน การที่บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการควบรวมกิจการทั้งในประเทศและข้ามชาติ ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาเชิงกลยุทธ์อย่างรอบคอบทั้งช่วงก่อนการควบรวม และการผสมผสานการดำเนินธุรกิจภายหลังการควบรวมเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ”
ทั้งนี้ รายงาน IBR นำเสนอว่าธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วทั่วโลกกำลังลงทุนเพื่อเดิมพันกับการเติบโตในอนาคต โดยได้มีการใช้จ่ายเงินสดสำรองเพื่อเริ่มต้นการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ทัศนคติด้านบวกทั่วโลกปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2011 เนื่องมาจากแรงกระตุ้นจากยอดการสั่งซื้อสินค้าที่สูงขึ้น ในการนี้ บรรยากาศทางการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นนั้นเป็นการส่งสัญญาณว่าบริษัทมองว่าเวลานี้เป็นเวลาแห่งการลงทุนเพื่อวางรากฐานสำหรับการเติบโตต่อไป
นอกจากนี้ รายงาน IBR ยังเปิดเผยว่าแผนการลงทุนของเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในสหภาพยุโรป (EU) 44% ของเจ้าของธุรกิจวางแผนจะขยายการลงทุนในโรงงานและเครื่องจักรในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 26% เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา และธุรกิจในกลุ่ม G7 (34% เพิ่มขึ้น 7%), อเมริกาเหนือ (33% เพิ่มขึ้น 5%) และกลุ่มเศรษฐกิจ PIGS (42% เพิ่มขึ้น 27%) ล้วนรายงานว่าจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น
ประเทศที่มีทัศนคติด้านบวกสูงที่สุด
1.เปรู 98%
2.ฟิลิปปินส์ 92%
3.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 92%
4.เม็กซิโก 84%
5.อินเดีย 83%
ประเทศที่บริษัทจะจ้างงานเพิ่มขึ้น
1.อินเดีย 76%
2.ไทย 72%
จอร์เจีย 72%
3.เปรู 68%
4.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 58%
5.ฟิลิปปินส์ 56%
ตุรกี 56%
เอียน แพสโค กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติด้านบวกที่เกิดจากการที่กลุ่มเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งประสบกับความยากลำบากที่สุดในช่วงหลายปีนี้กำลังมีบรรยากาศทางธุรกิจที่สดใสกว่าระยะเวลาที่ผ่านมา อีกทั้งการรอดพ้นจากสภาวการณ์ความหวาดกลัวต่อสภาวการณ์ ‘หน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff)’ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในสหรัฐฯ ลดลงเมื่อไตรมาสที่ 4 นั้นได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจ – แม้ว่าทางการของสหรัฐฯ จะมีการลดการใช้จ่ายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความรู้สึกที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นคนใหม่จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ส่วนประเทศจีน คาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ดียิ่งกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2013 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทัศนคติด้านบวกจะเป็นแรงผลักดันที่ดี แต่ยังเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น และเราขอแนะนำให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นกว่านี้ก็ตาม”-กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit