กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--no name imc
หน่วยโลหิตวิทยา ร่วมกับ โครงการจุฬาคิดส์คลับ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรมเสวนา “รู้จัก...ธาลัสซีเมีย” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและรักษาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคเลือดจางที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนไทย และอาจแฝงอยู่ในพ่อแม่ โดยมี รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล และ รศ.นพ.ปัญญา เสกสรรค์ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ร่วมเป็นวิทยากร
ภายในงานมีการเปิดตัวหนังสือ “ธาลัสซีเมียในเด็ก” ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการขายหนังสือมอบให้กองทุนโรคเลือดและมะเร็งในเด็ก รพ.จุฬาลงกรณ์ นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจเลือดว่าใครเป็น “โรคซีด” ใครเป็น “โรคธาลัสซีเมีย” และบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้ร่วมงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับสมัครผู้บริจาคไขกระดูกเพื่อผู้ป่วยธาลัสซีเมีย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมมงคลนาวิน ตึก สก. ชั้น 10 รพ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้
รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กไทย และเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งปัญหาของโรคนี้เกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่ ที่คิดว่าร่างกายแข็งแรงเป็นปกติดีทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งร้อยละ 30-40 ของประชากรในประเทศ เป็นพาหาะของโรคธาลัสซีเมีย แม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ โดยเด็กแรกคลอดร่ายกายจะเป็นปกติดีทุกอย่าง แต่จะเริ่มตัวซีดตอนอายุ 6 เดือน หรือบางรายจะแสดงอาการให้เห็นเมื่อเด็กมีอายุ 1 ขวบขึ้นไป และมีการเจริญเติบโตช้า ท้องโต
การรักษาโรคธาลัสซีเมียในปัจจุบันทำได้ 2 วิธีคือ การเปลี่ยนถ่ายเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง และการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายเลือดนั้น ก็เพื่อลดอาการตัวซีดของเด็ก และช่วยให้เด็กสามารถเจริญเติบโตได้สมวัย สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่จะต้องดูแลเด็กเป็นพิเศษ ร่วมกับการออกกำลังกาย ให้เด็กดื่มนมเยอะๆ จะได้มีแคลเซียมมาป้องกันภาวะกระดูกบาง ข้อควรระวังในเรื่องของการให้เลือดเป็นประจำคือ เด็กจะมีภาวะเหล็กเกิน รักษาได้โดยการให้ยารักษาร่วมกันไป โดยจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต ส่วนการรักษาที่จะทำให้โรคนี้หายขาดได้นั้น ทำได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ต้องรอการบริจาคและต้องมีเซลล์เข้ากันได้ หากผู้บริจาคเป็นพี่น้องกัน โอกาสที่เซลล์เข้ากันได้จะมีประมาณ 25% แต่ถ้าเป็นผู้บริจาคคนอื่นโอกาสที่เซลล์จะเข้ากันได้จะมีประมาณ 15%
รศ.นพ.ปัญญา เสกสรรค์ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการรักษาโรคธาลัสซีเมียนั้น การให้เลือดในผู้ป่วยธาลัสซีเมียนั้นจะทำ นอกจากการให้เลือดแล้ว ยังต้องให้ยาขับเหล็กควบคู่ไปด้วย ซึ่งมีทั้งแบบฉีดและยารับประทาน ปัจจุบันการบริจาคไขกระดูกยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยกับผู้บริจาค จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่มีโรคประจำตัว อายุ 18-50 ปี มาบริจาคไขกระดูกให้กับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย และสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรคธาลัสซีเมียสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจเลือดก่อนมีบุตร
นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญครอบครัวของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย มาร่วมให้ความรู้ด้วย โดยคุณแม่น้องกอด ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก เล่าว่า ก่อนแต่งงานเราตรวจเลือดแล้ว แต่เกิดความผิดพลาดเพราะตรวจเลือดแล้วไม่เจอ ตอนมีลูกคนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร จนคลอดลูกคนที่ 2 แล้วคุณหมอทักว่า ลูกชายคนโตตัวซีดป่วยเป็นธาลัสซีเมีย ก็ตกใจมาก กลัวลูกคนที่ 2 จะเป็นด้วย ผลตรวจออกมาว่าลูกคนเล็กไม่เป็น แต่ข่าวร้ายก็คือคนน้องไม่สามารถให้ไขกระดูกคนพี่ได้ เราก็ต้องทำใจยอมรับ และรักษากันไป โดยการให้เลือดเป็นประจำทุกๆ 2 สัปดาห์ จนวันหนึ่งเราได้รับโทรศัพท์จากคุณหมอ ว่ามีผู้บริจาคไขกระดูกที่สามารถเข้ากับลูกของเราได้ ทำให้เราดีใจมาก วันนี้น้องได้รับการรักษาจนหายขาดแล้ว ต้องขอบคุณผู้บริจาคที่ให้ชีวิตใหม่กับน้อง และให้ชีวิตใหม่กับครอบครัวของเรา ทำให้เรามีกำลังใจและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ เราไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นใคร ไม่รู้จะตอบแทนยังไง ก็ขอตอบแทนผู้บริจาคด้วยการทำงานเพื่อสังคม ด้วยการให้ความรู้กับครอบครัวที่มีลูกเป็นธาลัสซีเมีย คอยให้กำลังใจญาติ เพื่อจะได้มีแรงที่จะต่อสู้และดำเนินชีวิตต่อไปค่ะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณบุษบา (บุษ) / คุณชลียาพันธุ์ (กิ๊ฟฟู่) โทร. 02 718 3800-5 ต่อ 141 / 144
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net