ฟิทช์คงอันดับกองทุนรวมตลาดเงิน 2 กองที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทยที่ ‘AAAmmf(tha)’

05 Jul 2013

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับกองทุนรวมตลาดเงินภายในประเทศ (National Money Market Fund Rating) ของกองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ (TMBTM) และกองทุนเปิดทหารไทยธนบดี (TMBMF) ที่ระดับ ‘AAAmmf(tha)’ โดยกองทุนรวมตลาดเงินทั้งสองกองบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทย จำกัด (TMBAM)

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับกองทุนรวมตลาดเงินภายในประเทศ

การประกาศคงอันดับกองทุนทั้งสองสะท้อนถึง

  • คุณภาพเครดิต การกระจายตัวและสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่ลงทุน
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและอันดับเครดิตในระดับต่ำ
  • การที่กองทุนรักษาสภาพคล่องรายวันและรายสัปดาห์ให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้สามารถรองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนโดยผู้ถือหน่วยได้
  • ความสามารถของ TMBAM ในการบริหารจัดการกองทุน

คุณภาพเครดิตและการกระจายตัวของสินทรัพย์

สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของอันดับกองทุนรวมตลาดเงินที่ ‘AAAmmf(tha)’ ที่กำหนดโดยฟิทช์ TMBTM และ TMBMF สามารถรักษาคุณภาพเครดิตของสินทรัพย์ภายใต้กองทุนโดยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นอย่างต่ำที่ ‘F1(tha)’ (หรือสินทรัพย์ที่มีอันดับเครดิตเทียบเท่า) เท่านั้น กองทุนทั้งสองลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอันดับเครดิตระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน TMBTM และ TMBMF ยังกำหนดให้การทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนมีหลักประกันเต็มจำนวนและมีคู่สัญญาที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ กองทุนทั้งสองยังจำกัดสัดส่วนการลงทุนในผู้ออกตราสารหนี้และคู่สัญญาแต่ละรายให้สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนดังกล่าวข้างต้น

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556 TMBTM และ TMBMF มี Portfolio Credit Factor (ซึ่งเป็นค่าวัดความเสี่ยงที่พิจารณาถึงคุณภาพเครดิตและอายุของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน) ที่ไม่เกิน 1.5 ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของอันดับกองทุนรวมตลาดเงินที่ ‘AAAmmf(tha)’

TMBTM มีนโยบายไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในภาคสถาบันการเงิน (corporate debt securities) ในขณะที่ TMBMF จำกัดการลงทุนใน corporate debt securities ไว้ที่ร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2556 TMBMF มีการลงทุนใน corporate debt securities มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้าและใกล้กับระดับที่จำกัดไว้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการที่ TMBMF มีการลงทุนใน corporate debt securities ได้ถูกลดทอนลงจากการที่ตราสารหนี้ดังกล่าวมีคุณภาพเครดิตที่สูงและมีอายุตราสารหนี้ที่สั้น

อายุของสินทรัพย์

กองทุนทั้งสองได้จำกัดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและอันดับเครดิตสอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของอันดับกองทุนรวมตลาดเงินที่ ‘AAAmmf(tha)’ โดยกองทุนทั้งสองได้กำหนดให้ระดับค่าเฉลี่ยของอายุจนถึงวันที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ของสินทรัพย์ที่ลงทุน (Weighted Average Maturity to Reset Date – WAM) อยู่ที่ไม่เกิน 60 วัน TMBTM และ TMBMF ไม่ได้มีการกำหนดระดับค่าเฉลี่ยของอายุจนถึงวันที่ครบกำหนดชำระของสินทรัพย์ที่ลงทุน (Weighted Average Life – WAL) แต่จากการที่สินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นสินทรัพย์ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั้งหมด ทำให้ WAM และ WAL ของกองทุนอยู่ในระดับที่เท่ากัน ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2556 WAM ของ TMBTM และ TMBMF อยู่ต่ำกว่า 57 วันและ 59 วันตามลำดับ ในขณะเดียวกัน อายุคงเหลือของสินทรัพย์แต่ละตัวที่ลงทุนของกองทุนทั้งสองอยู่ที่ไม่เกิน 397 วัน ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดโดยฟิทช์สำหรับตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ภาครัฐและตราสารหนี้รัฐบาลที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่

สภาพคล่องของสินทรัพย์

กองทุนทั้งสองจำกัดความเสี่ยงจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุน โดยรักษาสภาพคล่องของกองทุนรายวันและรายสัปดาห์ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดโดยฟิทช์ TMBTM และ TMBMF มีข้อกำหนดในการลงทุนโดยต้องลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ถึง 15 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุนในสินทรัพย์ที่ครบกำหนดในวันทำการถัดไปหรือสินทรัพย์อื่นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่า และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ถึง 30 ในสินทรัพย์ที่ครบกำหนดใน 7 วันทำการหรือสินทรัพย์อื่นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่า ซึ่งกองทุนทั้งสองสามารถรักษาระดับสภาพคล่องให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน สะท้อนถึงการที่กองทุนทั้งสองมีการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้นที่สูง ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2556 TMBTM มีสินทรัพย์ที่นับเป็นสภาพคล่องรายวันและรายสัปดาห์ (ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น) มากกว่าร้อยละ 90 ในขณะที่ TMBMF มีสินทรัพย์ที่นับเป็นสภาพคล่องรายวันและรายสัปดาห์มากกว่าร้อยละ 65 ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2556 TMBMF มีการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้นประมาณร้อยละ 64 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา TMBMF มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดภายใน 7 วันระหว่างร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 26 ของสินทรัพย์ภายใต้กองทุน

วัตถุประสงค์การลงทุน

TMBTM และ TMBMF มีวัตถุประสงค์การลงทุน เพื่อรักษาเงินต้นและดำรงสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูงโดยจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง กองทุนทั้งสองดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการลงทุนโดยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีคุณภาพเครดิตสูง ซึ่งรวมถึงตราสารหนี้ภาครัฐ เงินฝากประจำ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน โดย ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2556 TMBTM และ TMBMF มีสินทรัพย์ภายใต้การลงทุนมูลค่า 22.5 พันล้านบาทและ 10.1 พันล้านบาทตามลำดับ

บริษัทจัดการกองทุน

TMBAM ตั้งขึ้นในปี 2539 โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘A+(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ/‘F1(tha)’) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 87.5 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 TMBAM มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ 181 พันล้านบาทภายใต้ 68 กองทุนและมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับที่ 5 ในธุรกิจกองทุนรวมเมื่อพิจารณาจากขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ ฟิทช์มองว่า TMBAM มีระบบควบคุมตรวจสอบการลงทุนและการดำเนินงาน การเฝ้าติดตามการลงทุน กระบวนการตัดสินใจในการเลือกลงทุนและการสนับสนุนกองทุนที่สอดคล้องกับอันดับกองทุนของ TMBTM และ TMBMF

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับกองทุนรวมตลาดเงินในอนาคต

อันดับกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในคุณภาพเครดิตหรือความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยหลักที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับกองทุนได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับกองทุนรวมตลาดเงิน สามารถดูได้จากรายงานที่แสดงไว้ข้างล่าง ในการติดตามทำการวิเคราะห์อันดับกองทุนรวมตลาดเงินภายในประเทศ ฟิทช์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนและรายละเอียดการลงทุนจาก TMBAM เป็นรายสัปดาห์ และได้ทำการเปรียบเทียบการลงทุนของกองทุนกับเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดไว้

-กผ-