แบ็กซ์เตอร์ฯ ทุ่มกว่า 2,240 ล้านบาท เร่งสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตในไทย รองรับความต้องการด้านสุขภาพของคนไทย

03 Jul 2013

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--no name imc

บริษัทแบ็กซ์เตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ทุ่มงบ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,240 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง บริษัทแบ็กซ์เตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งเป็นการรักษาที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถเปลี่ยนน้ำยาได้เองที่บ้าน วันละ 3-4 ครั้ง ขานรับนโยบายของภาครัฐในการให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงการรักษาได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ.2559 นี้ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง

นพ.วิชีย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตของบริษัทแบ็กซ์เตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตเฉพาะน้ำยาล้างไตแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ด้านการผลิตน้ำยาล้างไตให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า

การล้างไตทางช่องท้องเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าสะดวก ปลอดภัย ผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้าน และช่วยประหยัดค่าเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในชนบท อีกทั้งยังเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน ที่ขาดแคลนบุคคลากรด้านการแพทย์ โดยเราสามารถเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ป่วย โดยก่อนที่ภาครัฐจะมีนโยบายนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ประมาณ 1,000 ราย ปัจจุบันการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยการล้างไตทางช่องท้อง เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 15,000 ราย เพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากตามลำดับ

“ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายล้างไตทางช่องท้อง ในปี พ.ศ. 2551 นั้น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่ ต้องกลายเป็น บุคคลล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสูงถึงประมาณ 2-3 แสนบาทต่อปี และจากปัญหาด้านการเงินของครอบครัว ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้จึงเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่เดือน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้คนไทยให้เข้าถึงการรักษาโรคไตได้มากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ริเริ่มนโยบายล้างไตทางช่องท้อง ตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตของบริษัทแบ็กซ์เตอร์ฯ นี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีน้ำยาล้างไตที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และช่วยให้การจัดหาน้ำยาล้างไตในราคาที่ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายเพื่อให้การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างยั่งยืนต่อไป รวมทั้งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกน้ำยาล้างไต สู่กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต”

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันสปสช. ใช้เงินงบประมาณ 4,300 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และปีหน้ารัฐบาลให้เงินจำนวน 5,187 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ในจำนวนนี้นอกจากผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องแล้ว ยังรวมถึงผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือด และผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายไตด้วย ในส่วนของการล้างไตทางช่องท้อง ปัจจุบันรัฐบาลต้องนำเข้าน้ำยาล้างไตจาก อินเดีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ การนำเข้าค่อนข้างยากลำบาก และมีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขนส่ง เนื่องจากน้ำยาล้างไตมีน้ำหนักมาก ซึ่งการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตของแบ็กซ์เตอร์ฯ นี้ นอกจากจะช่วยให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งในการนำเข้าน้ำยาล้างไตแล้ว ยังจะช่วยให้รัฐบาลซื้อน้ำยาล้างไตได้ในราคาที่ถูกลงอีกด้วย และช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับน้ำยาล้างไตที่มีคุณภาพที่ผลิตภายในประเทศ ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำยาจะขาดแคลน

นายชานการ์ คัวล์ (Mr.Shankar Kaul) ผู้จัดการใหญ่ ภาคพื้นเอเชีย เขตเศรษฐกิจใหม่ บริษัท แบ็กซ์เตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า “พิธีวางศิลาฤกษ์ในวันนี้จะเป็นอีกบันทึกหนึ่งในประวัติศาสตร์ ของแบ็กซ์เตอร์ฯ ที่นำนวัตกรรมการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง สู่ประเทศไทย การลงทุนสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไตทางช่องท้องในประเทศไทย เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแบ็กซ์เตอร์ฯ ที่มีต่อประเทศไทย และต่อผู้ป่วยที่ใช้น้ำยาล้างไตทางช่องท้องของแบ็กซ์เตอร์ แบ็กซ์เตอร์เชื่อว่าการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

ภญ.ทิพวรรณ จิตพิมลมาศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แบ็กซ์เตอร์ฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของคนไทยมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) “ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา แบ็กซ์เตอร์ฯ ได้นำเอาความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีด้านรักษาพยาบาลใหม่ๆ เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยด้วยมาตราฐานสากลของแบ็กซ์เตอร์ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคไต โรคเลือดออกง่ายหยุดยากฮีโมฟีเลีย ภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคติดเชื้อ แผลผ่าตัด และภาวะอื่นๆ ทั้งแบบเรื้อรังและเฉียบพลัน แบ็กซ์เตอร์ฯ เป็นผู้นำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ด้วยการล้างไตทางช่องท้อง

ปัจจุบัน บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วยผู้บริหารและพนักงานซึ่งเป็นคนไทยทั้งหมด 150 คน และคาดว่าเพิ่มการจ้างงานให้กับคนไทยได้เป็น 600 คนในปี พ.ศ.2559 เมื่อโรงงานเริ่มการผลิตเต็มอัตรา โดยส่วนหนึ่งของการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาล้างไต บริษัทแบ็กซ์เตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด นี้ จะเป็นการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาสู่ประเทศไทย และยังเพิ่มทักษะและการฝึกอบรมให้กับคนไทย เพื่อผลิตน้ำยาล้างไตทางช่องท้องที่มีคุณภาพ สนองตอบความต้องการด้านสุขภาพของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

แบ็กซ์เตอร์ฯ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพชั้นนำของโลก มีฐานการผลิตมากกว่า 50 แห่ง ตั้งอยู่ใน 27 ประเทศทั่วโลก ทำให้ แบ็กซ์เตอร์ฯ สามารถผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่คุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละภูมิภาคทั่วโลกได้อย่างดี

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net