เปิดเวทีเสวนาเชิงวิชาการประจำปี 2556 “จะอยู่อย่างไรให้มีความสุขกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง”

15 Jul 2013

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--คอร์ แอนด์ พีค

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดขาว จากความผิดปกติในการสลับคู่โครโมโซมคู่ที่ 22 และคู่ที่ 9 ในอดีตไม่สามารถรักษาได้ โดยในแต่ละปีจะมีคนไข้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3-5 ปี แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทำให้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ ที่ช่วยยืดอายุคนไข้ให้ยืนยาวขึ้น และเพื่อให้ความรู้กับผู้ป่วย และญาติ ทางคณะกรรมการชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแห่งประเทศไทย (Thai CML Patient Group)และชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Working Group) เปิดเวทีเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “จะอยู่อย่างไรให้มีความสุขกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง” ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและถ่ายทอดเรื่องราวโดยผู้ป่วยซึ่งให้กำลังใจพร้อมทั้งข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว เพื่อให้อยู่อย่างมีความสุข

ศ.เกียรติคุณ พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Working Group) เปิดเผยว่า ในปีนี้ ทางชมรมฯ ได้ร่วมมือกับกลุ่มตัวแทนผู้ป่วยภายใต้ Thai CML Patient Group จัดงานเสวนาวิชาการประจำปี 2556 “จะอยู่อย่างไรให้มีความสุขกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง” ซึ่งปีนี้เป็นการจัดงานติดต่อกันเป็นปีที่ 3แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ และแนวทางการรักษาสมัยใหม่รวมถึงวิธีการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษา รวมทั้งยังมีการให้ความรู้ในเรื่องของสิทธิ์ต่างๆของผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษา รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ของชมรมฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ผู้สนใจได้ตระหนักและให้ความสำคัญของโรค

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์นี้ (Chronic Myeloid Leukemia หรือ CML) เกิดจากความผิดปกติในการสลับที่ของโครโมโซมคู่ที่ 22 และคู่ที่ 9 ในอดีตไม่สามารถรักษาได้ โดยในแต่ละปี จะมีคนไข้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3-5 ปี แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ ๆ ที่ช่วยยืดอายุของคนไข้ให้ยืนยาวขึ้น และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนปกติได้ อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคนี้เดิมยังอยู่ในวงแคบเพราะอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้มีไม่สูงนัก ทำให้เกิดความพยายามของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะมารวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยา หรือ Thai CML Working Group และกลุ่มตัวแทนผู้ป่วย หรือ Thai CML Patient Group ขึ้นมาในปัจจุบัน โดยมีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมถึงกิจกรรมการเสวนาเชิงวิชาการประจำปี 2556 “จะอยู่อย่างไรให้มีความสุขกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง” ดังกล่าวนับเป็นกิจกรรมหนึ่งของชมรมฯ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ หรือ CML ทางการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด และไม่ได้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทั้งนี้จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง หรือ CML ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้ทั่วโลกมีประมาณ 1-2 รายต่อประชากร 1 แสนคน โดยโรคนี้จะมีการสร้างเม็ดเลือดขาวที่สูงผิดปกติ ซึ่งเราสามารถทราบได้จากการตรวจสุขภาพทั่วไป สำหรับอาการที่พบได้แก่ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด คลำเจอก้อนที่ชายโครงซ้าย หรือผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ซึ่งการรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างใหม่โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายขาดจากโรคที่มีความรุนแรง หรืออาจจะไม่สามารถรักษาได้ในสมัยก่อน ตัวอย่างเช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่กลับเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีการนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการรักษาในอดีตต้องได้รับความร่วมมือจากแพทย์ผู้ชำนาญ และนักวิทยาศาสตร์ในหลายสาขาวิชา แต่บุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ป่วยและครอบครัว ความเข้าใจในโรคและการรักษารวมถึงความร่วมมือในการรักษาและการดูแลตนเองมีความจำเป็นอย่างมากที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จ

นายภาณุวัฒน์ รัตนะ ประธานชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย (Thai CML Patient Group) กล่าวว่า ทางชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย หรือ Thai CML Patient Group) ได้ก่อตั้งมาร่วม 3 ปี มีสมาชิกทั้งที่เป็นผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยประมาณ 300 คน ที่มารวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยน และรับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ เนื่องจากผู้ป่วย และญาติบางคนไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เลยซึ่งการที่ผู้ป่วยมารวมกลุ่มกันทำให้สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งแนะแนวเรื่องการใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลในรูปแบบต่างๆ

สำหรับผมเป็นบุคคลหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ โดยเบื้องต้นไม่บ่งบอกว่ามีอาการอะไร แต่ที่ทราบว่าเป็นโรคนี้เพราะไปตรวจสุขภาพร่างกายปกติประจำปี แพทย์ได้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง จึงได้ทำการรักษาตั้งแต่นั้น และได้รับประทานยา ทำให้การใช้ชีวิตของผมมีความเป็นปกติสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป

ในการนี้เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ผู้ป่วยได้ทราบถึงวิทยาการความก้าวหน้าทางการรักษาโรคCML ในปัจจุบัน ซึ่งมีความก้าวหน้ามากกว่าในสมัยก่อนมาก ทำให้ปัจจุบันโรคCML ถือได้ว่าเป็นโรคเรื้อรัง เหมือนโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยโรคCML สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป หากรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง-กภ-