กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--หอการค้าไทย
หอการค้าไทยยื่น 3 ข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เร่งเดินหน้ารถไฟรางคู่เชื่อมต่อการขนส่งอื่น
เร่งก่อสร้างท่าเรือชายฝั่ง เพิ่มความสำคัญขนส่งทางท่อ ด้านบริหารจัดการภาครัฐ เน้นประสิทธิภาพโปร่งใส ด้านความพร้อม เน้นพัฒนาคนลดพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ พร้อมย้ำผู้ประกอบการและภาครัฐดูแลต้นทุนด้านการบริหารจัดการและสินค้าคงคลัง ควบคู่ต้นทุนการขนส่ง เชื่อมั่นสอดคล้องยุทธศาสตร์ประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ก้าวสู่ศูนย์กลางเชื่อมโยงโลจิสติกส์ภูมิภาค เศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมสัดส่วนการขนส่งสินค้าของประเทศไทย มีการใช้รูปแบบทางถนนมากถึง 86% ขณะที่การส่งทางน้ำ มีสัดส่วน 12% และการขนส่งทางรางมีสัดส่วนเพียง 2% โดยรูปแบบการขนส่งทางถนนมีต้นทุนสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางน้ำ และทางราง ส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยสูงถึง 15.2% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย 15.2% หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยต้นทุนด้านการขนส่ง7.2% สินค้าคงคลัง 6.7% และต้นทุนบริหารจัดการ 1.3% ดังนั้น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จึงจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้เฉพาะด้านการขนส่งเท่านั้น ในขณะที่ยังไม่มีการพิจารณาถึงการลดต้นทุนของสินค้าคงคลังและการบริหารจัดการ”
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยและภูมิภาค หากมีการพิจารณาทบทวนความสำคัญของแต่ละโครงการอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชิวิตที่ดี โดยมีการบริหารโครงการอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศไทยโดยรวมลดลง และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยง ระบบโลจิสติกส์สำหรับภูมิภาคต่อไป”
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะต่อร่างดังกล่าว 3 ด้าน คือ
1 .โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
รถไฟรางคู่ ควรได้รับความสำคัญสูงสุด และถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศ
ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้ประโยชน์ทั้งกับสินค้าและผู้โดยสาร อีกทั้งขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในจุดที่ทางรถไฟตัดกับถนน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะความเร็วรถไฟเพิ่มขึ้นแต่ระบบการกั้นรถไฟยังมีความเสี่ยงอยู่
การขนส่งทางน้ำ หลายโครงการขาดการวิเคราะห์ด้านอุปสงค์ (Demand) ที่เหมาะสม จึงใช้ประโยชน์ได้
ไม่เท่าที่ควร อาทิ ท่าเรือระนอง ท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ ท่าเรือที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา เป็นต้น จึงควรศึกษาด้านอุปสงค์ให้รอบคอบ นอกจากนี้ การขาดการดูแลการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่งอย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาการขนส่งชายฝั่งไม่ต่อเนื่อง โดยพิจารณาอัตราค่าภาระสำหรับเรือชายฝั่งที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับรูปแบบการขนส่งทางถนนได้ รวมทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาดำเนินการท่าเรือของรัฐ โดยให้เรียกเก็บค่าภาระที่ต่ำที่สุดแทนการให้ผลตอบแทนแก่ภาครัฐสูงสุด เพื่อลด Supply Chain Cost ลง
การขนส่งทางท่อ เสนอให้เพิ่มความสำคัญการขนส่งในระบบท่อ ซึ่งยังไม่ได้รวมอยู่ในโครงการฯ เนื่องจาก มีความปลอดภัยสูง ลดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมได้มากกว่า และมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ
รถไฟความเร็วสูง ควรต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศพึงได้รับอย่างถี่ถ้วนและควรคำนึงถึงความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบเข้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต
2. ด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ
เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรมาบริหารจัดการโครงการ 2 ล้านล้าน เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน ยังไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่
เนื่องจากเป็นการลงทุนที่อยู่นอกระบบงบประมาณ ทำให้ยากในการตรวจสอบและควบคุม จึงควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ติดตาม การใช้จ่ายงบประมาณลงทุนให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
ควรมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ เรื่องขนส่งสินค้าและการค้าขายผ่านชายแดน ให้มีความคล่องตัวเพื่อรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาคของโครงการ 2 ล้านล้าน
เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้รวมงบประมาณค่าบำรุงรักษา ซ่อมแซม (Maintenance) ดังนั้นรัฐบาลควรคำนึงถึงงบประมาณสำหรับของโครงการนี้ให้รอบคอบ
3. ด้านการเตรียมความพร้อมของบุคคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอในการบริหารงาน สำหรับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยให้สถานศึกษาเตรียมการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในการต่อยอดเทคโนโลยี เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนประกอบ ในประเทศ (local content) เพื่อให้มีการพัฒนาในภาคการผลิตของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศจีน และเกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในระหว่างที่รอการดำเนินงานร่างพ.ร.บ.โครงการดังกล่าวฯ ภาครัฐสามารถเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบขนส่งที่มีอยู่เดิม อาทิ การปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือคลองเตย ด่านการค้าชายแดน รวมถึงระบบพิธีการศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคการส่งออกของไทยในปัจจุบัน”
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักด้านธุรกิจของภาคเอกชน มีหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา นอกจากจะทำหน้าที่พัฒนาขีดความ สามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีจรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit