กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเวทีให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมแก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมบริหารจัดการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร”

26 Jul 2013

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดประชุมสัมมนาโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง ประจำปี 2556 จาก 31 พื้นที่ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรม สวนบวกหาด อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาล ให้มีแหล่งน้ำเพาะปลูกพอเพียงตลอดทั้งปี สามารถเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี บนวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตร เพื่อให้ประชากรกว่า 24 ล้านคนของภาคการเกษตรมีความอยู่ดีกินดี สามารถเลี้ยงตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น โดยการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เพิ่มการลงทุน และเทคโนโลยีภาคการเกษตร เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และช่วยบรรเทาความเสี่ยง ของผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกภูมิภาคของประเทศ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ความต้องการใช้น้ำเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ หลายพื้นที่ในภาคการเกษตรที่มีชลประทานแล้ว แต่ไม่สามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อทำการเกษตร ซึ่งไม่เพียงพอรองรับความต้องการ ใช้น้ำของภาคเกษตรกรรม

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำบาดาลในภาคการเกษตรให้เหมาะสม มีสมดุลและเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด เพื่อให้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จึงขยายผลการดำเนินงานโครงการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบ ภัยแล้ง” เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ โดยค่าใช้จ่าย 1 พื้นที่ (500 ไร่) ใช้จำนวนเงินประมาณ 15.6 ล้านบาท วงเงินงบประมาณรวมทั้งหมด สำหรับดำเนินการใน 31 พื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 484 ล้านบาท ทั้งนี้ วางเป้าหมายให้เกษตรกรกว่า 2,000 ครัวเรือน บนพื้นที่ 15,500 ไร่ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดทั้งปี สามารถเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง

สำหรับรูปแบบการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่เหมาะสมเพื่อการเกษตรตามหลักวิชาการ จะคำนึงถึงศักยภาพของแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ การออกแบบทางวิศวกรรม ความเหมาะสมกับชนิดของพืชที่เพาะปลูก และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สามารถเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดจะดำเนินการใน 31 พื้นที่ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน แพร่ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย มหาสารคาม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุพรรณบุรี ลพบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร และพัทลุง

ทั้งนี้ ในพื้นที่แต่ละแห่งจะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 ไร่ และมีศักยภาพของน้ำบาดาล ไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยได้คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง จากนั้นจึงดำเนินการสำรวจข้อมูลทั่วไปของพื้นที่โครงการ ประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ออกแบบและสร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งใน 1 พื้นที่ของโครงการฯ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล จำนวน 10 บ่อ หอถังเหล็กพักน้ำ ขนาดความจุ 30 ลูกบาศก์เมตร ความสูง 20 เมตร จำนวน 5 หอถัง ระบบไฟฟ้า ระบบกระจายน้ำ พร้อมจุดจ่ายน้ำให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 50 จุด และมีบ่อสังเกตการณ์เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำบาดาลและคุณภาพน้ำบาดาล จำนวน 2 บ่อ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการและบำรุงระบบแก่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการวางแผนรูปแบบการตลาดของสินค้าการเกษตรเพื่อให้โครงการเกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า การประชุมสัมมนากลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาล ทั้ง 31 พื้นที่ ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งโครงการดังกล่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2556 นี้ และจะมีการส่งมอบ ให้กลุ่มเกษตรกรรับไปดำเนินการต่อไป-นท-