อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับพุทธวจนสมาคม จัดงาน“เทศกาลลานธรรม: ๑๕ ค่ำเดือน ๘” เรียนรู้อย่างเข้าใจในพุทธวจน ธรรมวินัยจากพุทธโอษฐ์ เพื่อการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของหลักธรรมและธรรมชาติ

24 Jul 2013

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--19 มีเดีย

เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับพุทธวจนสมาคม จัดกิจกรรมและนิทรรศการ “เทศกาลลานธรรม: ๑๕ ค่ำเดือน ๘” ขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๐ – วันอาทิตย์ที่ ๒๑ และวันอังคารที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๕๖ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น ๘ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยกิจกรรมทางธรรมต่างๆ มากมาย ผ่านนิทรรศการ กิจกรรม สื่อการเรียนรู้ และเทคโนโลยีทันสมัยจากแท็บแล็ตและแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ เพื่อนำไปปรับใช้ในการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของหลักธรรมและธรรมชาติต่อไป

โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการพุทธวจน ธรรมวินัยจากพุทธโอษฐ์ ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย * นิทรรศการสิบพระสูตรสำคัญตรัสจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย - CONCENTRATE IT - IMMEDIATELY EFFECTIVE - ALL THAT IS JUST SO AND NOT OTHERWISE - SOMETHING TO BE LEARNED BY HEART AND MASTERED - DEALING WITH EMPTINESS - TO PROSPER AND NOT DECLINE - PERFECTLY ENLIGHTENED - KNOW DHAMMA BY HEART - LISTEN,PAY CLOSE ATTENTION, AND I WILL SPEAK - DO NOT BE THE LAST MAN

  • นิทรรศการชุด: Time Line พระไตรปิฏก โดยนำเสนอถึงความเป็นมาของพระไตรปิฎก ให้ได้ศึกษาเรียนรู้อย่างง่ายๆ ด้วยแผนภาพที่แสดงตั้งแต่ ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราชที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และแสดงธรรมปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือที่ชาวพุทธศาสนาเรียกว่า “วันอาสาฬหบูชา” นั่นเอง จากนั้นการประกาศศาสนาด้วยพุทธพจน์จึงเกิดขึ้น กระทั่งเสด็จปรินิพพานจึงเกิดสังคายนาสาธยาทรงจำ(มุขปาฐะ) พระธรรมวินัยขึ้นและนำมาสู่การจารึกพระพุทธวจนเป็นลายลักษณ์อักษร นำมาสู่พระไตรปิฎกฉบับสำคัญ คือพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้มีการคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานมาเป็นตัวไทย แล้วชำระแก้ไขและจัดพิมพ์เป็นหนังสือด้วยเทคนิคการพิมพ์ครั้งแรกของโลกจำนวน ๓๙ เล่มและส่งไปยังสถาบันต่างๆกว่า ๒๖๐ ทั่วโลก ซึ่งนับเป็นปฐมบทของพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้เรื่อง “บัว ๓ เหล่า” ตามพุทธวจนมีการเปรียบบุคคลด้วยดอกบัว ๓ เหล่า และร่วมเวิร์คช็อป ตามหลักพุทธวจน จากกลุ่มชวนม่วนธรรม นอกจากนี้ไม่ควรพลาดกับกิจกรรมดี ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ดังนี้

วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ พบกับ Be BUDDHAWAJANA Young Talents :การสาธยายพระสูตรจากการทรงจำ จากยุวสมาชิกอายุ ๕-๑๕ ปี ดำเนินรายการโดยนางสาวอนันตญาณ์ ทั่งทอง นักเรียนชั้นม. ๖ ผู้สาธยายพระสูตรภาษาอังกฤษ ในงาน Be Buddhawajana World และดูแลคอร์สพุทธวจนสำหรับเยาวชนครั้งที่ ๒ และชมละครเวทีตามหลักพุทธวจน โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาศรีปทุมร่วมกับศูนย์นวัตกรรมศิลปะการแสดงเพื่อพัฒนาเยาวชน

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฏาคม ๒๕๕๖ พบกับเวทีเสวนา Inspired by Idol บุคคลสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้พุทธวจนกับ คุณส้ม ณัชพร สายบัว Managing Director สาวเปรี้ยวจากบริษัท Woody World ผู้ผลิตรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย และรายการตื่นมาคุยซึ่งมีประสบการณ์บวชชี ๓ ครั้ง ที่ประเทศอินเดีย ๒ ครั้ง และประเทศไทย ๑ ครั้ง นอกจากนี้ยังเข้าคอร์สอบรมสมาธิ วิปัสสนากรรมกับพระอาจารย์ชื่อดังต่างๆ มาแล้วมากมาย โดยมาร่วมพูดคุยกับพิธีกรหนุ่ม จาก TrueSelect คุณไฮน์ เหมวัส โชติชุติมาศ และคุณสิริยากร เทียนวุฒิชัย เยาวชนผู้ปฏิบัติธรรม Do Not Be the Last Man

และสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ขอเชิญมาร่วมฟังธรรมหัวข้อ “มารู้จักพุทธวจนในวันอาสาฬหบูชา” โดย พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง

และวันอังคารที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๕๖ พบกับเวทีเสวนา “ผลของการทำดี ทำชั่ว...ภพภูมิมนุษย์” กับคุณจันทสิริ เจริญพิทักษ์ นายกพุทธวจนสมาคม และเรือเอกนฤเบศวร์ ทองแดง ประธานกรรมการมูลนิธิพุทธวจน

ขอเชิญน้องๆ เยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปที่สนใจมาร่วมค้นหาสัจจะความจริงจากพุทธวจน ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษานี้ และพิสูจน์เส้นทางการเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเรียนรู้อย่างเข้าใจในการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของหลักธรรมและธรรมชาติ ภายในงาน “เทศกาลลานธรรม: ๑๕ ค่ำเดือน ๘” ในวันเสาร์ที่ ๒๐ – วันอาทิตย์ที่ ๒๑ และวันอังคารที่ ๒๓ กรกฏาคม ๒๕๕๖ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น ๘ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วมรับฟังการถ่ายทอดสด “สนทนาธรรมหลังฉัน ณ วัดป่านาพง” โดยพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาสวัดป่านาพง เวลา ๑๑.๐๐ -๑๓.๐๐ น. ทาง www.tkpark.or.th และหนังสือพุทธวจน จำนวน ๑๑ เล่มเพื่อเป็นแนวทางที่จะรักษาคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าสืบต่อไป

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net