กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--วธ.
กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ 2556 สนองแนวพระราชดำริในหลวง ด้านอนุรักษ์ภาษาไทย มอบรางวัลยกย่องปูชนียบุคคลด้านการใช้ภาษาไทย พร้อมจัดแสดงคอนเสิร์ต “ 1 ทศวรรษเพชรในเพลง ” 29 กรกฎาคม โรงละครแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ที่โรงละครแห่งชาติ นายอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในการแถลงข่าววันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2556 ว่า ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ของทุกปี ตรงกับวันภาษาไทยแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมทางภาษาของชาติ และเห็นความสำคัญของวันภาษาไทย จึงกำหนดจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2556 ขึ้น ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.ณ โรงละครแห่งชาติ เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และการอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน ตลอดจนการสืบสานภาษาไทยให้คงอยู่สู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า กรมศิลปากร ได้ดำเนินการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2556 เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย โดยคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 23 รางวัล ซึ่งในปีนี้ได้พิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 3 รางวัล ดังนี้ ศิลปินผู้สร้างสรรค์บทเพลงจากวรรณกรรม ได้แก่ นายมนัส ปิติสานต์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์บทเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ นายสุรชัย จันทิมาธร และศิลปิน 1 ทศวรรษเพชรในเพลง ได้แก่ นางสาวธรพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) ส่วนรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์ในอดีต แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงวิมานสีชมพู ผู้ประพันธ์ นายวิชัย โกกิลกนิษฐ (ครูธาตรี) และประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงมนต์เมืองเหนือ ผู้ประพันธ์ นายไพบูลย์ บุตรขัน
ทั้งนี้ รางวัลประเภทการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงวันวานไม่มีเขา วันนี้ไม่มีเรา ผู้ประพันธ์ นายยืนยง โอภากุล รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงคนไทยฟื้นแผ่นดิน ผู้ประพันธ์ นายประภาส ชลศรานนท์ เพลงจดหมายถึงพ่อ ผู้ประพันธ์ นายอิทธิพล วาทะวัฒนะ (อี๊ด ฟุตบาท ทรีโอ) และประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงชีวิตบนเส้นด้าย หัวใจบนตักแม่ ผู้ประพันธ์ นายสุพจน์ สุวรรณพันธ์ (พจน์ สุวรรณพันธ์) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงแรงใจคนไกลบ้าน ผู้ประพันธ์ นายสลา คุณวุฒิ เพลงลูกทุ่งลูกไทย ผู้ประพันธ์ นายสร่างศัลย์ เรื่องศรี (หนู มิเตอร์ อาร์สยาม)
สำหรับ รางวัลประเภทการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงสายลมแห่งรัก ผู้ขับร้อง นายชลาทิศ ตันติวุฒิ (เบน ชลาทิศ) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงสายน้ำ สายพระทัย สายใยแห่งแผ่นดิน ผู้ขับร้อง นายขวัญทัศน์ ณ ตะกั่วทุ่ง (ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง) และเพลงทหารของแผ่นดิน ผู้ขับร้อง นายจักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน, ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงแค่หลับตา ผู้ขับร้อง นางสาวหนึ่งธิดา โสภณ รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงของตายที่อยากหายใจ ผู้ขับร้อง นางสาววิชญาณี เปียกลิ่ม (แก้ม เดอะสตาร์) เพลงเสียรักไม่ได้ ผู้ขับร้อง นางสาวพรพรรณ ชุณหชัย (เจนนิเฟอร์ คิ้ม), ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงสาวยโสธร ผู้ขับร้อง นางสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์ อาร์สยาม) รางวัลชมเชย เพลงรักนี้มีกรรม ผู้ขับร้อง นายสุธิราช อุสุภะ (กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ อาร์สยาม) เพลงตรงนั้นคือหน้าที่ ตรงนี้คือหัวใจ ผู้ขับร้อง สิบเอกกิตติคุณ บุญค้ำจุน (มนต์แคน แก่นคูณ) และประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงรักเธอทุก พ.ศ. ผู้ขับร้อง นางสาววิรดา อุสุภะ (วิรดา วงศ์เทวัญ อาร์สยาม) รางวัลชมเชย ได้แก่ เพลงชู้ทางกาย ผู้ขับร้อง นางสาวบุณยนุช สิทธิอาจ (ปอ ปาริชาติ อาร์สยาม) และเพลงมีใครได้ยินหรือเปล่า ผู้ขับร้อง นางสาวสุพรรษา ยิ้มพรรณวงษ์ (ยิ้ม สุทธิดา)
นอกจากนี้ กรมศิลปากร ยังได้จัดแสดงคอนเสิร์ต “1 ทศวรรษเพชรในเพลง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดประกวดเพลง “เพชรในเพลง ” ซึ่งเป็นการขับร้องเพลงที่ได้รับรางวัลเพชรในเพลงในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยกราบทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรการแสดงดนตรีดังกล่าว
ด้าน นายดำรงค์ ทองสม รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลให้แก่ปูชนียบุคคลหรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างด้านการใช้ภาษาไทย ประจำปี 2556 แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ 2. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 10 ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา รองศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ รองศาสตราจารย์ ดร. ชำนาญ รอดเหตุภัย นายบุญเสริม แก้วพรหม นางสาววันเพ็ญ เซ็นตระกูล นายวินิจ รังผึ้ง นายสมเจตนา มุณีโมไนย รองศาสตราจารย์ ดร. สุปาณี พัดทอง รองศาสตราจารย์สุพรรณ ทองคล้อย และนายสุรินทร์ แปลงประสพโชค 3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 6 ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล นายบุญศรี รัตนัง นายประมวล พิมพ์เสน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฤดีมน ปรีดีสนิท รองศาสตราจารย์ ดร. สืบพงศ์ ธรรมชาติ และนายอนันต์ สิกขาจารย์ และ4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย 5 ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) นายพะนอม แก้วกำเนิด รองศาสตราจารย์ ดร. วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ รองศาสตราจารย์ ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง (แม่ชีวิมุตติยา)-กภ-