กทค.เดินหน้าเพิ่มการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเต็มสูบ

23 Jul 2013

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กสทช.

เร่งตั้งคณะอนุกรรมการมีส่วนร่วมในกิจการโทรคมนาคม ย้ำ ต้องออกประกาศคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ซิมดับ รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน โดยไม่เลือกฝ่ายเพื่อประโยชน์ของชาติ

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค. เปิดเผยว่า วันนี้ (18 กรกฎาคม 2556) คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มต่างๆเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการรองรับกรณีสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz ซึ่งก่อนการประชุมดังกล่าว ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคประกอบด้วย สมาพันธ์เครือข่ายผู้บริโภคมุสลิม สมาพันธ์เครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแห่งประเทศไทย สมาคมบรอดแบนด์เพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสประเทศไทย สมาคมดาวเทียมสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ส.ค.พ.ท.) สมาคมโทรคมนาคมเพื่อวิชาชีพและสังคม สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ และเครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดระยอง จำนวนมาก ได้รวมตัวกันยื่นคำแถลงการณ์แสดงจุดยืนในเรื่องการดำเนินการของ กสทช. กรณีแก้ปัญหาซิมดับ ดังนี้ 1. สนับสนุนการดำเนินงานของ กสทช. ในการเตรียมการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และการออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพื่อมิให้เกิดกรณีซิมดับ เมื่อสัมปทาน 1800 MHz สิ้นสุด เนื่องจากเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ปกป้องประโยชน์สาธารณะ 2. แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ของคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งกลุ่มอื่นที่อ้างความชอบธรรม ในการเคลื่อนไหวเร่งรัดให้ กสทช. จัดประมูลคลื่น 1800 MHz อย่างเร่งด่วน ก่อนวันสิ้นสุดสัมปทานโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของสภาพอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างอยู่ในระบบ เนื่องจากจะทำให้ไม่สามารถจัดสรรคลื่น 1800 MHz ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 3. แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยให้ซิมดับ โดยไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนเยียวยาผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ภายใต้สัมปทานที่จะสิ้นสุด 4. ประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงแก่ประชาชน ให้เข้าใจผิดว่ามาตรการทางกฎหมายที่ กสทช. จะออกเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการในช่วงสูญญากาศเมื่อสัมปทานสิ้นสุด เป็นการยืดอายุสัมปทาน และขอประณามความพยายามใดๆ ที่จะใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการออกใบอนุญาต 5. เรียกร้องให้ กสทช. คณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ หรือซูเปอร์บอร์ด รวมทั้งวุฒิสภา, ปปช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบอร์ด กสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค ที่ละเลยการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งไม่เคารพมติขององค์กร และขาดจริยธรรมโดยปลุกระดม ร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก กสทช. มากดดันการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. รวมทั้งคัดค้านมาตรการทางกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการคลื่นสัมปทาน 1800 MHz ซึ่งหากการคัดค้านเป็นผลสำเร็จจะทำให้เกิดกรณีซิมดับ และเกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบเป็นอย่างมาก และ 6. เรียกร้องให้ กสทช. ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ และต้องไม่ให้ความสำคัญต่อเฉพาะกลุ่มเครือข่ายบางกลุ่มเท่านั้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีกลุ่มผู้บริโภคในนามของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้แถลงการณ์เรื่องทางออกผู้บริโภคกรณีซิมดับจากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานของ กทค. ที่จัดทำร่างประกาศ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... ดังนั้นในฐานะประธาน กทค. จึงได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริโภคกลุ่มต่างเหล่านี้ เพื่อนำไปหารือในที่ประชุมฯ และใช้เป็นข้อมูล ตลอดจนแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประเทศชาติต่อไป

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวว่า “ได้ยืนยันต่อกลุ่มเครือข่ายทั้งเจ็ดกลุ่มว่า กสทช. จะยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และจะฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นว่า มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของ กสทช. โดยจะนำข้อแนะนำทั้งหมดมาพิจารณาประกอบการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้นำแถลงการณ์ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหากรณีป้องกันซิมดับของ กทค. และฝ่ายที่ไม่สนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาของ กทค. ให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz และกลุ่มเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ให้รับทราบด้วย พร้อมได้ให้โอกาสทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะอย่างเต็มที่ ซึ่งพบว่ายังมีหลายประเด็นที่หลายคนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เช่น เข้าใจว่ายังไม่มีการดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานดำเนินการเตรียมการจัดประมูลคลื่น 1800 ซึ่งไม่ถูกต้อง หรือความเข้าใจในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งยังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ ในวันนี้นอกจากจะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะแล้วยังได้ให้มีการชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย”

ด้าน ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างประกาศ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ค. 2556 ที่สโมสรกองทัพบก ซึ่งมาตรการเยียวยานี้เป็นคนละส่วนกับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประชาชนกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคส่วนหนึ่งเข้าใจกระบวนการทำงานของ กทค. คลาดเคลื่อนทำให้มีความเห็นให้ กทค. รีบดำเนินการจัดประมูลจัดสรรคลื่น 1800 MHz เพื่อไม่ให้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยตนได้อธิบายข้อกฎหมายว่า กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน หากจัดสรรคลื่นความถี่ไปโดยปัจจัยต่างๆ ไม่พร้อม ก็จะเกิดผลตามมา กรณีจึงไม่ใช่เรื่องประมูลไม่ทัน แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องกำหนดช่วงเวลาประมูลให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องแยกประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่องเยียวยาผู้ใช้บริการที่ค้างในระบบกับประเด็นเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ออกจากกัน

ปัญหาในเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การขาดการมีส่วนร่วมทำให้กลุ่มผู้บริโภคไม่ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและควรจะเพิ่มบทบาทให้เครือข่ายต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการแนะนำและรับทราบการดำเนินการต่างๆ ของ กสทช. ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ ซึ่งในโครงสร้างของสำนักงาน กสทช. ก็ไม่มีกลไกการมีส่วนร่วมปรากฏอยู่ในงานด้านต่างๆ ของสำนักงานฯ จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วม ซึ่งการตั้งคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมในกิจการโทรคมนาคมจะเป็นการเดินหน้าในเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมการดำเนินงานในทุกขั้นตอนของ กสทช. พันเอก เศรษฐพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงบ่ายวันนี้ ได้มีการประชุม กทค. ครั้งที่ 24/2556 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมในกิจการโทรคมนาคมโดยให้สำนักงานฯ ไปยกร่างกรอบอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการเพื่อนำมาเสนอในที่ประชุม กทค. ครั้งต่อไป ในส่วนการเร่งประชาสัมพันธ์ในกรณีการดำเนินการเกี่ยวกับการสิ้นสุดสัมปทาน 1800 MHz จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะด้วย ทั้งนี้มั่นใจว่าจากการทำงานในเชิงรุกจะทำให้ทิศทางการดำเนินงานของกสทช. โดย กทค. สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น ทำให้ปีนี้เป็นปีทองในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net