กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--พม.
วันนี้ (๑ ส.ค.๕๖) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสร็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วันสตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๖” ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีไทย...พลังพัฒนาประเทศ” โดยมี นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เฝ้าฯรับเสด็จ
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วันที่ ๑ สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีไทย” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้และทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับหน้าที่ของสตรีไทย ในโอกาสวันสตรีไทย เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ โดยเน้นหน้าที่หลัก ๔ ประการ คือ พึงทำหน้าที่ “แม่” ให้สมบูรณ์ พึงทำหน้าที่ของ “แม่บ้าน” ให้ดี พึง “รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย” มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส และพึง “ฝึกฝนตนเอง” ให้มีความรู้ความสามารถ ขยัน อดทน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษาความสามัคคีในหมู่คณะให้มั่นคง รวมถึงการช่วยรักษาและเชิดชูเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นต่อไป จึงเป็นที่มาของโครงการ “สตรีไทยดีเด่น" เพื่อสรรหาสตรีไทยผู้มีคุณสมบัติดังพระราชดำรัส และเป็นผู้มีความสามารถโดดเด่น สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติ สมควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติประกาศเกียรติคุณของสตรีให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน รับมอบเข็มเชิดชูเกียรติสตรีไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ จำนวนทั้งสิ้น ๑๒๘ คน และรางวัลเยาวสตรีดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ จำนวน ๑๒ รางวัล
นางปวีณา กล่าวต่อไปว่า ในวโรกาสปีมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ ๘๑ พรรษา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะองค์กรหลักภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสถานภาพ และพัฒนาศักยภาพสตรีไทยในมิติต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นกรอบการดำเนินงาน เพื่อการส่งเสริมสตรีไทยให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคและเป็นธรรม นอกจากนี้ ได้ผลักดันให้มีแผนพัฒนาสตรีภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙) เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ ๑) การเสริมสร้างเจตคติและการยอมรับด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ๒) การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของสตรีไทย ๓) การพัฒนาสุขภาวะ คุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ๔) การพัฒนาศักยภาพสตรีเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมทางการเมือง การบริหารและการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ และ ๕) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลไกและองค์กรสตรีทุกระดับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาประเทศ โดยประชาชนชาวไทยทั้งหญิงและชาย ที่อาศัยอยู่ ในประเทศและต่างประเทศ ย่อมที่จะได้รับโอกาสและผลประโยชน์ต่างๆอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสร้างโอกาสการพัฒนาศักยภาพ การเพิ่มโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับสตรี รัฐบาลจึงมีการจัดตั้ง“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี”ขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์พลังสตรีให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษด้วยทางหนึ่ง
นางปวีณา กล่าวต่ออีกว่า ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆมากมาย ได้แก่ พิธีพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติสตรีไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ จำนวน ๑๒๘ รางวัล และรางวัลเยาวสตรีดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖ จำนวน ๑๒ รางวัล, ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สตรีไทย...รวมพลังช่วยเหลือสังคม” และการเสวนาหัวข้อ“เยาวสตรีไทย...ผู้สร้างอนาคตประเทศไทย” นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการการดำเนินงานของหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง และการเผยแพร่งานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยจะมีการรับสมัครสมาชิกที่สนใจบริเวณในงาน ตลอดจนนิทรรศการด้านการพัฒนาสตรีไทยในมิติต่างๆ และนิทรรศการประวัติ/ผลงานของสตรีไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๖
ทั้งนี้ “กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมจัดกิจกรรม เนื่องในโอกาสวันสตรีไทยมาโดยตลอด เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงบทบาท ความรู้ ความสามารถของสตรีไทย และเพื่อให้สตรีไทยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ความรู้ ความสามารถ ผลงาน ที่เกิดจากภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสตรีไทย รวมถึงบทบาทของสตรีไทยด้านต่างๆ อีกด้วย” นางปวีณา กล่าวตอนท้าย.-กภ-