กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม
สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ประกาศเตือนภัยโรคไหม้ข้าว โดยเฉพาะแปลงข้าวนาหว่านที่ใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ทำให้ต้นข้าวใบข้าวอวบอ่อนแอ ง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคไหม้ข้าว พร้อมแนะนำการใช้ปูนขาวกำจัดโรคไหม้ข้าว
ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าในช่วงที่เกษตรกรปลูกข้าวไม่ว่าจะทำนาปีหรือนาปรัง ส่วนใหญ่ในทุกพื้นที่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกิดกับข้าวที่ปลูก โดยเฉพาะโรคใบไหม้ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเกือบทุกพื้นที่ เกษตรกรหลายรายไม่ทราบถึงวิธีการป้องกันและกำจัดจึงนำสารเคมีไปใช้ในนาข้าวเพื่อกำจัดโรคจึงทำให้เกิดผลเสียและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลักษณะของโรคไหม้ข้าวหากพบการเกิดโรคในระยะกล้าจะมีแผลที่ใบข้าวเป็นสีน้ำตาลรูปวงรีคล้ายตา และมีสีเทาอยู่กลางแผล เชื้อของโรคนี้สามารถกระจายไปได้โดยลมและน้ำ นอกจากนี้ยังระบาดทำความเสียหายแก่ต้นข้าวได้ทุกระยะ ตั้งแต่ระยะกล้า ระยะแตกกอ และระยะออกรวง เชื้อจะระบาดได้เร็วมาก สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเกษตรกรใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ทำให้ต้นข้าวใบข้าวอวบเปราะอ่อนแอจึงทำให้ง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อรา และจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย รวมถึงการใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานโรคจึงอยากแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดโรคไหม้ข้าวด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตามวิธีการของเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด อำเภอภูเวียง จังหวัดน่านโดยการใช้ปูนขาวกำจัดโรคใบไหม้ข้าว ด้วยการนำปูนขาว ๑ กิโลกรัม ผสมกับน้ำ ๕ ลิตร หมักไว้ ๑ คืน หลังจากนั้นนำไปผสมกับน้ำ ๒๐ ลิตร ใช้ฉีดพ่นนาข้าวให้ทั่วในบริเวณที่โรคระบาด ปริมาณที่ใช้ขึ้นอยู่กับการระบาดของโรค
เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่าในกรณีที่แปลงโรคใบไหม้ระบาดจนทั่วทั้งแปลงให้ใช้ปูนขาว ๕๐ กิโลกรัมต่อพื้นที่ ๑ ไร่ หว่านให้ทั่วก่อนปลูกข้าว จึงขอให้เกษตรกรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยหมั่นสำรวจแปลงกล้า หากพบลักษณะของโรคใบไหม้เกิน ร้อยละ ๕ ของพื้นที่แปลงกล้า ควรลดปริมาณน้ำในแปลงกล้าจนแห้ง และงดการใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนทันที
เกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องศัตรูข้าวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit