กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--NBTC Policy Watch
โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ร่วมกับศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศราแถลงรายงานการศึกษาในหัวข้อ“ลดราคาบริการ 3G ลง ใครได้ประโยชน์?”และ “ขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz: เยียวยาผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการ?”28 มิถุนายน 2556 เวลา 13.00-15.30 น.ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
13.00-13.15 น. ลงทะเบียน
13.15-14.00 น. นำเสนอรายงานการศึกษาของโครงการ NBTC Policy Watch ในหัวข้อ “ลดราคาบริการ 3G ลง ใครได้ประโยชน์?” โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14.00-14.15 น. พักรับประทานอาหารว่าง
14.15-15.00 น. นำเสนอรายงานการศึกษาของโครงการ NBTC Policy Watch ในหัวข้อ “ขยายระยะเวลาคืนคลื่น 1800 MHz: เยียวยาผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการ?” โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
15.00-15.30 น. ถาม-ตอบข้อสงสัย และแลกเปลี่ยนความเห็น
โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch)
สนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ โดยบทบาทหน้าที่เหล่านี้ส่งผลสำคัญต่อการปฏิรูปกิจการสื่อสารของไทยใน 3 ส่วนหลัก คือ 1) การแข่งขันเสรีและเป็นธรรมในกิจการสื่อสารของไทย 2) การสร้างกระบวนการประชาธิปไตยผ่านการสื่อสารของไทย และ 3) การคุ้มครองประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภคและพลเมือง
การจัดตั้งโครงการเพื่อศึกษา วิเคราะห์ ติดตาม และตรวจสอบนโยบายและกระบวนการทำงานของ กสทช. รวมถึงทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย น่าจะช่วยสนับสนุนให้การทำงานของ กสทช. เป็นไปเพื่อเกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยผ่านการปฏิรูปการถือครองทรัพยากรสื่อสาร และคุ้มครองและรักษาสิทธิของประชาชนในกิจการด้านการสื่อสาร ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยขอบเขตเนื้อหาการทำงานของโครงการมีดังนี้
1. ติดตามเนื้อหานโยบายและกฎระเบียบ (Policy Content): เนื้องานคือการดูประกาศทั้งที่กำลังจะออกและที่ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว ทำบทวิจารณ์และข้อเสนอในการแก้ไข โดยอ้างอิงจากข้อมูล 3 ส่วน คือ 1) เวทีการรับฟังความคิดเห็น 2) การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสีย/นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ และ 3) ประสบการณ์จากต่างประเทศ
2. ติดตามขั้นตอนและการกำกับดูแลการทำงานขององค์กร (Policy process): งานในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนย่อย คือ
1) การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ (เช่น การลงมติของคณะกรรมการฯ ที่ไม่ควรเป็นแค่การลงคะแนน แต่ควรมีประกาศเหตุผลและจุดยืนที่สนับสนุนการตัดสินใจให้สาธารณะได้รับรู้)
2) กระบวนการรับฟังความคิดเห็น (ถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล)
3) การรับเรื่องและการจัดการเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค (กลไกการรับเรื่องร้องเรียนและการทำงานในระดับปฏิบัติการ)
4) การจัดซื้อจัดจ้าง
5) ติดตามการทำงานของกองทุนฯ
การติดตามการทำงานทั้ง 5 ส่วนนี้ จะทำทั้งในลักษณะกรณีศึกษา และการทำข้อเสนอเพื่อปรับแก้เชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายที่ดึงการมีส่วนร่วม (inclusiveness) ที่คำนึงถึงผลกระทบโดยรอบด้าน และสร้างกลไกการทำงานที่มีความโปร่งใส (transparency)
3. การวิจัยเพื่อทำข้อเสนอเชิงรุก: งานในส่วนนี้จะเป็นการทำวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงรุกให้กับ กสทช. และสังคมในประเด็นที่มีผลกระทบมาก แต่ยังไม่ได้รับความสนใจจาก กสทช. เท่าที่ควร เช่น ข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อเสนอในการจัดทำหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณเพื่อการให้บริการครอบคลุมทั่วถึง หรือข้อเสนอในการปกป้องผู้บริโภคจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล
4. การสื่อสารกับสังคม
1) จัดทำช่องทางการสื่อสารทั้งกับสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองในการเผยแพร่ข้อมูลและข้อเสนอ
2) จัดทำเว็บไซต์และการใช้สื่อสังคม
3) จัดเวทีเสวนา
ตัวอย่างหัวข้อศึกษา: 1) การหมดอายุสัมปทานคลื่น 1800 ในปี 2556 2) กลไกการรับและจัดการเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม 3) นโยบายปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภค 4) การปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ผ่านการจัดสรรคลื่นความถี่ 5) การเปลี่ยนผ่านจากการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล 6) ประเด็นการคุ้มครองและเรื่องร้องเรียนผู้บริโภคในกิจการแพร่ภาพกระจายเสียง7) การกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อวิทยุโทรทัศน์ (กลไก เนื้อหา) 8) ประเด็นการให้ใบอนุญาตในกิจการดาวเทียม 9) ประเด็นการรับฟังความเห็น 10) การใช้งบประมาณของ กสทช. 11) การเปิดเผยข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สะดวกและโปร่งใส 12) การใช้เงินของกองทุน
คณะทำงาน:
1. วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 2. ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดต่อ: [email protected]
-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit