ไอดีซีระบุตลาดพีซีในไทยไตรมาสแรกยังหดตัวลงอีก 20% ชี้เวนเดอร์ต้องหาช่องทางเปิดตลาดใหม่

24 Jun 2013

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ไอดีซี

จากการศึกษาตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ของไอดีซีเอเชียแปซิฟิก พบว่าตลาดพีซีของประเทศไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 มีอัตราการเติบโตที่ลดลง อันเป็นผลมาจากความต้องการซื้อที่ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มตลาดผู้บริโภคภาคครัวเรือน โดยมีอัตราการเติบโตลดลงถึงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมียอดจัดส่งเพียงแค่ 800,000 เครื่องเท่านั้น

ความต้องการใช้งานพีซีของภาคครัวเรือนได้อ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายไตรมาสแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวแทนจำหน่ายในทุกระดับ ที่ต้องพยายามรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้

โดยนายจาริตร์ สิทธุ นักวิเคราะห์สายงานศึกษาตลาดไคลเอนท์ ดีไวซ์ ประจำไอดีซีประเทศไทยระบุว่า “ตัวแทนจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ ได้พยายามมาแก้เกมด้วยการลดปริมาณสำรองสินค้าพีซี เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับดีไวซ์ที่ซื้อง่ายขายคล่องกว่าอย่าง แทบเลต”

"นอกจากนี้การขาดแคลนชิ้นส่วนหน้าจอระบบสัมผัสยังส่งผลทำให้เวนเดอร์ไม่สามารถนำพีซีจอทัชสกรีนเข้ามาทำตลาดได้อย่างเพียงพอ จนไม่สามารถกระตุ้นความต้องการซื้อได้มากนักและส่งผลให้ปริมาณการใช้งานระบบปฏิบัติการณ์ใหม่อย่าง Window 8 มีน้อยกว่าที่คาดไว้ด้วย" เขากล่าวเสริม

แต่ตลาดพีซีไทยยังคงได้รับข่าวดี เนื่องจากแรงซื้อโดยรวมของกลุ่มธุรกิจยังคงเติบโตเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการใช้งานอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจทั้งจากภาครัฐฯ และภาคเอกชนต่าง

"แม้ว่าความต้องการใช้งานในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ แต่องค์กรภาครัฐฯ และธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังคงเพิ่มปริมาณการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงซื้อหลักมาจากกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และกลุ่มสถานพยาบาล"

ไอดีซีเชื่อว่าตลาดพีซีของประเทศไทยในปี 2556 มีแนวโน้มที่ไมม่สดใสนัก โดยตลาดเริ่มหดตัวลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ปี 2555 และ ไอดีซีคาดว่าภาวะซบเซานี้ยังจะคงมีให้เห็นตลอดทั้งปี 2556

นายแดเนียล ผัง ผู้จัดการสายงานศึกษาตลาดไคลเอนท์ ดีไวซ์ของอาเซียน ของไอดีซีเอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า “ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะหันไปซื้อสมาร์ทโฟนและแทบเลตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐฯ และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่มากพอที่จะชดเชยกำลังซื้อที่อ่อนลงจากกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้ โดยเริ่มมีสัญญาณให้เห็นว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว และไอดีซีเชื่อว่า ผู้ค้าต่างๆ ต้องมุ่งมุ่งขยายตลาดนอกเหนือจากแค่ในหัวเมืองใหญ่ของประเทศ เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ ที่ยังมีความต้องการใช้งาน และเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

เอเซอร์กลับมามีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งใน ไตรมาส 1 ปี 2556 ส่วนหนึ่งเนื่องจากที่คู่แข่งยังประสบปัญหาในเรื่องของสินค้าคงคลัง แต่กระนั้นเอเซอร์เองยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคู่แข่งขันที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่น เลอโนโว และซัมซุง ส่วนเดลล์และเอชพีนั้นยังคงประสบปัญหาในการเจาะตลาดภาคครัวเรือน ถึงแม้ว่าเดลล์จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตนเองได้บ้างจากความสำเร็จในทำการตลาดกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กก็ตาม-กภ-