จับตาวาระ กสท. : เตรียมคลอด(ร่าง)ประกาศฯหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลเนื้อหารายการตามมาตรา 37

24 Jun 2013

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กสท.

– ชี้แจงความเห็นต่อร่างเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ ตามข้อเสนอ กสท.เสียงข้างน้อยและ เตรียมทำหนังสือเชิญชวนขอรับใบอนุญาตทีวีสาธารณะสร้างความเข้าใจอันดีกับประชาชน

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 24 ในวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.นี้ มีวาระน่าสนใจติดตามได้แก่ การพิจารณา “ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ...” ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีใจความสำคัญว่า ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหารายการออกอากาศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งหากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตาม กสทช.มีอำนาจสั่งด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ นอกจากนี้ กสท.ได้เตรียมพิจารณาความเห็นจากสำนักงานด้านกฎหมาย เพื่อประกอบการพิจารณา หลักเกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์ หรือ (ร่าง)ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ พ.ศ. .... ตามที่นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ สอง กสท.(เสียงข้างน้อย) ได้เสนอให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งเตรียมจับตา เรื่อง (ร่าง) หนังสือเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล บริการสาธารณะ ประเภทที่สาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน เพื่อให้ผู้ที่สนใจยื่นขอรับใบอนุญาตดังกล่าวได้พิจารณาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจต่อไป

ส่วนวาระอื่นน่าติดตาม ได้แก่ ข้อเสนอต่อ “ทิศทางโทรทัศน์ช่องเด็กและเยาวชนในยุคดิจิตอล” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำเงื่อนไขในการพิจารณาออกใบอนุญาต และเป็นข้อมูลในการกำกับดูแล ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ประเภท บริการธุรกิจระดับชาติสำหรับผู้ประกอบการโทรทัศน์ และ วาระ ข้อเสนอแนวปฏิบัติ เรื่อง การรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบรอดแคสในระบบดิจิตอลประเภททางธุรกิจระดับชาติ ตามข้อความใน(ร่าง)ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลฯ ข้อ 13.5 ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวปฏิบัติที่คณะกรรมการกำหนด โดยข้อเสนอแนวปฏิบัตินี้จะเป็นเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตมีหลักเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหากับผู้บริโภคได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอ

กสทช. พร้อมทั้งหาทางหรือวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำอีก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องรวบรวมฐานข้อมูลปัญหาให้กสทช.ได้นำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการจัดทำนโยบายต่อไป...

-นท-