ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขประเทศไทยประจำปี 2555 กับจุดแข็ง โอกาส แรงบันดาลใจ และ ผลลัพธ์ของประเทศไทยที่คนไทยต้องการในปี 2556: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ
นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความสุขประเทศไทยประจำปี 2555 กับ จุดแข็ง โอกาส แรงบันดาลใจ และผลลัพธ์ของประเทศไทยที่คนไทยต้องการในปี 2556 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ แพร่ นครสวรรค์ ขอนแก่น หนองคาย มหาสารคาม สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,041 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 20-29 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7
จากการวัดความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำปี 2555 ที่กำลังจะหมดลงนี้ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คือ จาก 7.40 ในเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ 7.53 ในเดือนพฤศจิกายน และมาอยู่ที่ 7.61 ในเดือนธันวาคมที่ทำการวัดครั้งล่าสุดนี้ โดยดัชนีความสุขที่มีค่าสูงสุดยังคงอยู่ที่การได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์คืออยู่ที่ 9.54 รองลงมาคือบรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 7.80 สุขภาพใจอยู่ที่ 7.63 สุขภาพกายอยู่ที่ 7.40 หน้าที่การงาน การประกอบอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ 7.22 วัฒนธรรมประเพณีไทยอยู่ที่ 7.17 และภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทยในสายตาต่างชาติ อยู่ที่ 7.13 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ องค์กรและคณะบุคคลที่ประชาชนเรียกร้องให้ช่วยกันสร้างความปรองดองของคนในชาติในปี 2556 ที่จะมาถึงนี้ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 35.2 ได้แก่ นักการเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 27.5 ได้แก่ สื่อมวลชน อันดับสามหรือร้อยละ 13.2 ได้แก่ กลุ่มนายทุน และการเคลื่อนไหวภาคประชาชน รองๆ ลงไปคือ กองทัพ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ องค์กรอิสระ เช่นสถาบันศาล กรรมการสิทธิฯ และอื่นๆ เช่น วุฒิสมาชิก เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง “โอกาส” ของประเทศไทยที่มีมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 45.9 ระบุเป็นแหล่งท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก รองลงมาคือ ร้อยละ 26.7 ระบุมีการค้าการลงทุนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 11.4 ระบุเป็นประเทศที่เจริญเติบโตด้วยเทคโนโลยี ร้อยละ 10.9 ระบุคนในชาติมั่งมี ร่ำรวย เป็นสุขและคุณธรรมมั่นคงในจิตใจของประชาชน และสุดท้ายคือร้อยละ 5.1 ระบุเป็นศูนย์รวมหรือฮับด้านสุขภาพและความสวยความงามของผู้คน ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงจุดแข็งของประเทศไทยที่มีมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 36.7 ระบุเป็นประชาธิปไตย รองลงมาคือ ร้อยละ 23.3 เป็นประเทศเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ รองๆ ลงไปคือ ทำเลดีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเป็นเมืองแห่งโอกาส ตามลำดับ
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของคนไทยเพื่อทำสิ่งที่ดีกว่าปี 2555 สำหรับประเทศไทยในปี 2556 พบว่า อันดับหนึ่งหรือ ร้อยละ 48.9 ระบุความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือ ร้อยละ 16.8 ระบุความเสียสละ ความกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน และรองๆ ลงไปคือ การให้อภัย มีความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความขยันหมั่นเพียร มีวินัย จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ ผลลัพธ์ที่คนไทยต้องการในปี 2556 พบว่า อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 38.1 ระบุความสงบสุข ร่มเย็น ความเป็นเอกภาพปรองดองของคนในชาติ รองลงมาคือร้อยละ 24.3 ระบุ ร่ำรวย มีกิน มีใช้ และรองๆ ลงไปคือ คุณธรรมและหลักศาสนา ความมั่นคงในจิตใจของผู้คน สุขภาพใจร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว และเป็นที่ยอมรับชื่นชอบของนานาประเทศทั่วโลก ตามลำดับ นางสาวปุณฑรีก์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศชาติสงบสุขร่มเย็นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้จักให้อภัย และเกิดความปรองดองของคนในชาติขึ้นอย่างแท้จริง และสะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้จบปริญญาหรือการศึกษาสูงมากนักและมีรายได้น้อยแต่ “คิดได้” และ “คิดเป็น” มีวุฒิภาวะทางปัญญาโดยเล็งเห็นว่า ประเทศชาติและประชาชนจะอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ ถ้านักการเมืองทำบทบาทที่แท้จริงของนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยนั่นคือ การทำหน้าที่ “ลดความขัดแย้ง” ในหมู่ประชาชน “ไม่ใช่ตัวสร้างความขัดแย้ง” ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเสียเอง
“ดังนั้น ความสุขของคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่อยู่บนความต้องการเห็นผลลัพธ์ ผลพลอยได้ของประเทศไทยในปี 2556 ที่จะมาถึงนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยการทำ “หน้าที่” ของนักการเมือง และสถาบันสื่อมวลชนที่ต้องช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็น “เมืองแห่งโอกาส” ของความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และช่วยกันประคับประคองอารมณ์ของผู้คนในชาติ ไม่เป็นฝ่ายปลุกปั่นยุยงให้เกิดความรุนแรงบานปลายขึ้น และถ้าเกิดอะไรขึ้นในปีหน้าที่จะนำสู่การสูญเสียก็ควรใช้ทางออกของการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่นานาประเทศให้การยอมรับทั่วโลกเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศเอาไว้ให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนต่อไป” นางสาวปุณฑรีก์ กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.1 เป็นชาย ร้อยละ 53.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.9 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 18.8 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 30.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 67.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 30.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 27.0 ระบุค้าขายธุรกิจส่วนตัว 13.8 ระบุอาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 10.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.2 ระบุเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ระบุว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ-ณอ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit