“โรงพยาบาลนนทเวช ชวนนักดื่ม เลิกเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงมะเร็งตับ”

02 Jan 2013

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--โรงพยาบาลนนทเวช

ในช่วงสิ้นปีมักมีเทศกาลแห่งความสุขและกิจกรรมต่างๆ มากมายให้ได้จัดปาร์ตี้หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ และมักพบเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในงานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ หรือไวน์ หากดื่มมากก็ยิ่งทำให้นักดื่มได้รับปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้น และเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลนนทเวช อยากชวนนักดื่มทั้งหลายให้ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล เพราะเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก ก็ย่อมมีผลโดยตรงต่อตับ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากขึ้น จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขปี 2553 พบว่า “มะเร็งตับ”ยังครองแชมป์โรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีชายไทยป่วยเพิ่มขึ้น 1 คน ทุก 1 ชั่วโมง ส่วนหญิงไทยป่วย 1 คน ทุก 1 ชั่วโมง เฉลี่ยพบผู้ป่วยวันละกว่า 30 คน และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ ซึ่งมักจะเป็นในระยะที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ทำให้โอกาสในการรักษาให้หายขาดมีน้อยลง

มะเร็งตับอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับ และอีกชนิดคือมะเร็งของเซลล์ทางเดินน้ำดี ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับ เพราะเป็นมะเร็งตับที่พบมากได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนมะเร็งทางเดินน้ำดีจะพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ส่วนใหญ่อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บใต้ชายโครงด้านขวา หากรุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการแน่นท้อง น้ำหนักลด หรืออาจมีตับโตจนคลำพบได้

สำหรับการรักษามะเร็งตับนั้น ขึ้นอยู่กับระยะที่เป็นมะเร็งตับ ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. การผ่าตัด

สามารถทำการผ่าตัดได้ก็ต่อเมื่อก้อนมะเร็งนั้นมีขนาดเล็ก และยังไม่ลุกลามไปยังตับส่วนที่เหลืออยู่ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย มักมีตับส่วนที่เหลืออยู่ไม่มากพอที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด

2. การฉีดยาเคมีเพื่ออุดกั้นหลอดเลือดที่เลี้ยงมะเร็งตับ (Transarterial Oily Chemoembolization ; TOCE) เป็นการรักษาโดยการใส่สายขนาดเล็กทางหลอดเลือดแดง (บริเวณขาหนีบ) และฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปอุดกั้นเส้นเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็งในตับเพื่อให้เซลล์มะเร็งตาย

3. การใช้คลื่นความร้อนทำลายมะเร็งตับ (Radiofrequency Ablation หรือ RFA)

เป็นการทำลายก้อนมะเร็งด้วยการสอดเข็มขนาดเล็ก (RF needle) ผ่านผิวหนังหน้าท้อง โดยอาศัยเครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทางเข้าไปที่ก้อนมะเร็ง และปล่อยกระแสไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนเพื่อไปทำลายก้อนมะเร็ง ซึ่งผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งด้วย

4. การฉีดสาร Absolute Alcohol

โดยการสอดเข็มขนาดเล็กผ่านผิวหนังเข้าไปที่ก้อนมะเร็ง แล้วฉีดสาร Absolute Alcohol เข้าไปทำลายก้อนมะเร็งโดยตรง

5. การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับ Liver Transplantation

เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนตับที่มีก้อนมะเร็งออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค อาการของผู้ป่วย และระยะเวลาในการรอรับไตจากผู้บริจาคด้วย

6. การรักษาด้วยวิธี Targeted Therapy

เป็นการรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะออกฤทธิ์ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง ซึ่งปัจจุบันจะใช้กับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลามแล้วเพื่อช่วยยืดอายุของผู้ป่วยมะเร็งตับ

หากรู้ว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทำให้เกิดโรคที่อันตรายต่อชีวิตอย่างนี้แล้ว ยังคิดที่จะดื่มอยู่อีกหรือ? แต่ถ้าปฏิเสธไม่ได้ก็ควรมีสติดื่มแค่พอประมาณ หากลดหรือเลิกได้ก็ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะห่างไกลจากมะเร็งตับแล้ว ยังปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกด้วย

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลนนทเวช

โทร. 0-2596-7888

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net