เตือน5โรคร้ายทำลายชีวิตครูพร้อมแนะเทคนิดดูแลแม่พิมพ์ด้วยอาหารสไตล์อายุรวัฒน์

15 Jan 2013

กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์

TCELS ส่งศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เตือน 5 โรคร้ายอันตรายต่อชีวิตครู แนะเทคนิดดูแลสุขภาพแม่พิมพ์สไตล์อายุรวัฒน์ เผยเมนูเด็ดดูแลครูได้อย่างดีคือ น้ำพริกปลาทู แกงขี้เหล็ก น้ำใบมะตูม-ย่านาง-ใบบัวบก

ในโอกาสวันครู ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ TCELS โดยศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ขอส่งความห่วงใยไปยังแม่พิมพ์ของชาติทุกคน ด้วยคำแนะนำดี ๆ ที่เตือนให้คุณครูระวังโรคร้ายที่อาจมากับความรับผิดชอบในวิชาชีพของตัวเอง

นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า โรคร้ายแรงมีมากมายที่อาจจะบั่นทอนชีวิตของคุณครูผู้มีบุญคุณมากมายกับลูกศิษย์ที่ออกไปทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่ที่จะหยิบยกให้ทราบในทีนี้ คือ 5 โรคร้ายที่อาจทำอันตรายครูไทย คือ 1. โรคเครียด ไปจนถึงซึมเศร้า อาชีพครูเป็นอาชีพที่เหนื่อยและหนัก แต่ครูจะมีความสุขอยู่ในใจเสมอ ภาวะเครียดที่มาจากการที่ต้องรับผิดชอบทั้งลูกศิษย์และงานของครูอาจทำให้สมองล้าเป็นบางครั้งบางทีได้ แต่ถ้ายังมีแรงกดดันอยู่นานๆเช่นมีเรื่องส่วนตัวและครอบครัวด้วยก็อาจทำให้ครูประสบภาวะทางอารมณ์ได้ อาจมีอารมณ์สองขั้วหรือซึมเศร้าได้ง่าย ทางแก้ง่ายคือให้คุณครู “ออกกำลังใจ” และกิน “อาหารร่าเริง” แบบง่ายๆ

2.โรคอ้วน มาจากเรื่องการรับประทาน, การดื่มอัลกอฮอล์,ออกกำลังกายน้อยและความเครียด ดังจะเห็นว่าแม่พิมพ์ของชาติที่ต้องตรากตรำทำงานทั้งสอนหนังสือและบริหารไปด้วยจะมีความเสี่ยงข้อนี้มาก ความเหนื่อยล้าของสมองกับร่างกายจะกระตุ้นให้การรับประทานมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อกลับถึงบ้านก็อยากพักผ่อนให้เต็มที่ ไม่อยากออกกำลังกายแล้วเพราะรู้สึกเหนื่อย เมื่อนั้นโรค “อ้วนลงพุงมฤตยู (Metabolic syndrome)” ก็จะถามหา โรคนี้ไม่ใช่แค่หุ่นไม่สวยอย่างเดียวนะครับแต่มันมีไขมันในเลือดสูง มันจุกตับและนำไปสู่ความดันสูง,เบาหวานและโรคอื่นๆได้อีกมาก

3.โรคนอนดึก คุณครูหลายท่านจำต้อง “เข้าสังคม” ซึ่งสรุปง่ายคือต้อง นอนดึก,กินดึกและอยู่ดึก ทั้ง 3 ข้อเป็นไลฟสไตล์ที่เรียกโรคภัยไข้เจ็บเป็นอย่างยิ่ง ลำพังแค่การนอนดึกก็ทำให้ “อ้วนง่าย” กินน้อยแต่น้ำหนักขึ้นเร็ว ส่วนการรับประทานดึกก็ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน การนอนหลับจะไม่สนิทดีนัก อาจทำให้เกิด “กรดไหลย้อน” ได้ ในกรณีที่น่าห่วงคือคุณครูที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วการนอนที่มีปัญหาอาจมีได้ตั้งแต่ หลับไม่ลึก,หยุดหายใจขณะหลับ,โรคหัวใจกำเริบ,เสี่ยงมะเร็งไปจนถึงไหลตายได้

4.โรคนอนไม่หลับ ครูบางท่านอยากนอนเร็วหัวค่ำแต่สมองกลับไม่เป็นใจปล่อยให้นอนกลิ้งไปมาตากลมอยู่ทั้งคืน อย่างนี้น่าเห็นใจ โรคนอนไม่หลับอาจเกิดได้ในครูไทย เกิดได้จากเรื่อง “วัย” และเรื่อง “งาน” โดยคุณครูที่เข้าวัยทองจะมีปัญหานี้มากหน่อยแล้วส่งผลต่อการสอนในตอนเช้ามาก น่าเห็นใจคุณครูมากที่เรื่อง “งาน” ก็อาจนำความเครียดติดสมองไปทำให้นอนไม่หลับได้ มีเทคนิคง่ายสไตล์อายุรวัฒน์คือ “จัดระเบียบสมอง” วางคววามสำคัญก่อนหลังเช่น สำคัญที่สุดคืองานสอนและงานประกันคุณภาพ สำคัญถัดมาคืองานสังคม ส่วนสำคัญท้ายสุดคืองานที่ไม่เกี่ยวข้องกับศิษย์เรา แล้วจะเบาหัวเวลานอนได้มาก

5.โรคที่เกี่ยวกับการยืน เช่นข้อเข่าเสื่อม,ปวดไขข้อและริดสีดวง ครูที่ท่านต้องยืนนานวันละหลายชั่วโมงนั้นต้องเอาใจใส่สุขภาพให้มากครับเพราะท่านมีความเสี่ยงที่จะข้อเข่าสึกได้มากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะในท่านที่รูปร่างใหญ่ด้วย ขอให้เลี่ยงมาพักเข่าบ้างทุก 30 นาทีและเลี่ยงท่านั่งต่อไปนี้คือ พับเพียบ,ขัดสมาธิ,คุกเข่าหรือว่านั่งยอง ในโรงเรียนควรจัดให้มี “สุขานั่งห้อยขา” แทนที่สุขาแบบ “นั่งยอง” ไว้สำหรับครูผู้ใหญ่จะช่วยได้มากครับ ถัดมาคือเรื่อง “ริดสีดวง” ที่อาจมาระรานครูได้เวลายืนนานๆหรือต้องกลั้นการขับถ่ายบ่อยๆ ขอให้คุณครูใช้วิธีดื่มน้ำให้มากและออกกำลังบ่อยๆครับจะทำให้ลำไส้ทำงานได้ปกติดี

นอกจากนี้ นพ.กฤษดา ยังแนะนำ 5 เทคนิคดูแลสุขภาพครูคือ 1. อาหารร่าเริงสำหรับคุณครู เป็นอาหารที่ช่วยบำรุงสมองและมีวิตามินที่ช่วยคลายเครียด นั่นคือ “น้ำพริกปลาทู” เพราะมีปลากับกะปิที่ช่วยบำรุงสมองไล่ลดการอักเสบที่เกิดจากธาตุเครียด(Cortisol)สะสม ส่วนท่านที่สะดวกแบบวิตามินเม็ดก็มี วิตามินบี,น้ำมันปลา,วิตามินเอ,วิตามินดีและแร่ธาตุอย่าง สังกะสีกับแมกนีเซียมครับ ที่จะช่วยรับมือกับอาการล้าที่เกิดจากความเครียดได้ 2.นิทราบำบัด การนอนเป็นอาหารสมองที่สำคัญสำหรับครู ถ้านอนไม่หลับสนิทลองรับประทาน “แกงขี้เหล็ก” , “น้ำมะตูม”, “น้ำใบบัวบก”, “น้ำใบย่านาง” หรือดื่ม “ชาคาโมไมล์ใส่น้ำผึ้ง” ก็ได้ครับ จะช่วยปรับ “ธาตุง่วง(Melatonin)” และ “เคมีสุข(Serotonin)” ในสมองก่อนนอน ช่วยกล่อมให้หลับสบายใจดี

3. สุขาคุณครู คุณครูผู้ใหญ่และคุณครูผู้มีร่างใหญ่เหมาะกับโถห้องน้ำแบบ “นั่งห้อยขา” ครับ จะช่วยเซฟข้อเข่าไว้ไม่ให้สึกก่อนวัย คุณครูจะได้ไม่ปวดขาเวลายืนสอนนักเรียนนานๆ การมีห้องน้ำเฉพาะสำหรับคุณครูจะช่วยสุขภาพครูได้ทั้ง “ข้อเข่า” และ “ริดสีดวง” ด้วย 4. ออกกำลังกาย ภารกิจที่รัดตัวทำให้คุณครูหลายท่านไม่อาจออกกำลังกายได้ดังหวัง ลำพังงานก็ทำให้กลับบ้านมืดค่ำ จึงขอให้ใช้เทคนิคออกกำลังกาย “ขยับในออฟฟิศ” ดังต่อไปนี้คือ ลุกนั่งกับเก้าอี้เป็นระยะ ลุกขึ้นยืนแล้วนั่งอย่างนี้ก็ช่วยได้แล้วครับ วันหนึ่งสัก 20 ครั้ง สลับกับ “แกว่งแขน” วันละ 500 ครั้ง นอกจากนั้นการ “เดิน” เริ่มต้นสักวันละ 1,000 ก้าวโดยใช้เครื่องนับก้าวช่วยก็ช่วยได้มาก อย่างน้อยให้คุณครูได้ออกกำลังแบบที่ว่ารวมๆกันสักวันละ 30 นาทีก็เท่ากับกฏการออกกำลังมาตรฐานแล้ว

5.ออกกำลังสมองและใจ เวชศาสตร์อายุรวัฒน์เน้นเรื่องของ “ความสุข” ที่มาจากข้างในออกข้างนอก สำหรับครูต้องพิเศษหน่อยครับคือเน้นที่ “ทำได้เอง” อาจลองหากิจกรรมที่ไม่เคยทำมาทำดูเช่น ทำอาหาร,ทำขนม,เล่นดนตรี,เต้นลีลาศ,โยคะ ส่วนเรื่องของจิตใจขอให้ใช้เทคนิค “เห็นดีได้ในทุกสิ่ง” แม้ในงานที่รู้สึกว่าหนักใจไม่อยากรับถ้ามองจนเห็นดีได้จะทำให้สบายขึ้นเยอะ หรือกับคนที่ไม่ดีกับเราก็ตามถ้าเห็นดีได้ในคนนั้นแล้วจะทำให้ใจเบาลง นี่คือการออกกำลังใจสร้างเมตตาแบบง่ายๆ

ติดต่อ:

www.tcels.or.th - 02-6445499

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net