กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--แกรนท์ ธอร์นตัน
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติ ฉบับประเทศไทย หรือ “International Business Report (IBR): Thailand Focus” ที่แกรนท์ ธอร์นตันเผยแพร่ในวันนี้ นำเสนอผลสำรวจที่เปรียบเทียบประเทศไทยกับอีก 43 ประเทศด้วยปัจจัยชี้วัดหลายด้าน ได้แก่ ทัศนคติด้านบวก/ด้านลบเชิงธุรกิจ ความคาดหวังต่อรายรับ ภาพรวมการส่งออก การจ้างงาน ข้อจำกัดทางธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การควบรวมกิจการ สตรีในตำแหน่งผู้บริหาร สัมพันธภาพทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ภาพรวมทั่วโลก
ผลการสำรวจรายงานว่าธุรกิจทั่วโลกมีทัศนคติด้านบวกลดลงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2012 โดยระดับทัศนคติด้านบวกต่อเศรษฐกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 8% ส่วนธุรกิจในประเทศไทยมองว่าบรรยากาศทางธุรกิจในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นอยู่ในเชิงบวกที่ 22% ซึ่งเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสที่ 2 ทางด้านภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นยังคงทรงตัวอยู่ได้อย่างเปราะบางท่ามกลางความไม่แน่นอนจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป, สถานการณ์การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่จะลดลงอย่างมากในช่วงระยะเวลาอีก 10 ปีต่อจากนี้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย-แปซิฟิกลดลงในไตรมาสที่ 3 แม้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) จะดำเนินไปด้วยดีก็ตาม
วิสัยทัศน์ต่อเศรษฐกิจไทย
การขยายตัวของ GDP ในประเทศไทยในปี 2012 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.5% โดยตัวเลขดังกล่าวได้รับการพิจารณาปรับลดลงหลายครั้งในปีนี้ โดยวิกฤตการณ์ทางการเงินในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาเพื่อการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแม้แต่ประเทศคู่ค้าในเอเชียเองก็ตาม โดยตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ 19.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งลดลง 6.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการผลิตนั้นลดลง 11.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนตัวเลขการนำเข้านั้นได้รับแรงผลักดันจากการนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนเครื่องจักรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ประเทศไทยขาดดุลราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม
เอียน แพสโค กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นโยบายของประเทศไทยอันประกอบด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายรถคันแรก โครงการจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่เป็นที่ถกเถียงกันในเวลานี้ ตลอดจนโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งถนน รางรถไฟ และมาตรการการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลได้ลงงบประมาณไปอย่างมาก ได้ผ่อนผันแรงกระทบโดยตรงจากการส่งออกที่ลดลงได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ส่งผลให้เกิดแรงกดดันทางเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.4% ในเดือนกันยายน จาก 2.7% ในเดือนสิงหาคม”
ผลลัพธ์โดยรวมของการฟื้นตัวจากเหตุการณ์อุทกภัยประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้ประเทศไทยมีทัศนคติด้านบวกเชิงธุรกิจสูงขึ้น 14% จาก 8% ในไตรมาสที่ 2 เป็น 22% ในไตรมาสที่ 3 เปรียบเทียบกับภูมิภาคอาเซียนที่มีทัศนคติด้านบวกสูงขึ้น 5% และทั่วโลกที่ลดลง 15% อย่างไรก็ตาม ทัศนคติด้านบวกเชิงธุรกิจในประเทศไทยช่วงก่อนเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 42% ดังนั้นแม้ว่าทัศนคติด้านบวกจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น้อยกว่าในช่วง 12 เดือนก่อนหน้า
ความคาดหวังต่อรายรับ
จำนวนนักธุรกิจที่คาดหวังจะมีอัตรารายรับเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลงเล็กน้อยจาก 48% ในไตรมาสที่ 2 เป็น 46% ในไตรมาสที่ 3 ส่วนค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 53% ในไตรมาสที่ 3 และค่าเฉลี่ยทั่วโลกลดลงจาก 52% ในไตรมาสที่ 2 เหลือ 47% ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจนี้กับทัศนคติด้านบวกเชิงธุรกิจ จะได้ข้อสังเกตว่าผู้บริหารธุรกิจทั่วโลกมีความมั่นใจในธุรกิจของตนมากกว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจ
ข้อจำกัดทางธุรกิจ
“คำสั่งซื้อสินค้าที่น้อยลง/อุปสงค์ที่ลดลง” เป็นข้อจำกัดที่มีผลกระทบมากที่สุดต่อการขยายธุรกิจสำหรับเจ้าของธุรกิจในประเทศไทย (48%) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ (31%) ตามด้วย “กฎระเบียบ/ความล่าช้าของการดำเนินการ” (44%) อย่างไรก็ตาม “การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ” เป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน (41%) และยังเป็นข้อจำกัดที่สำคัญเป็นอันดับที่ 3 สำหรับประเทศไทย (38%)
การควบรวมกิจการ
ธุรกิจในประเทศไทยมองว่าจะขยายกิจการด้วยตนเอง โดยในอีก 3 ปีข้างหน้า มีเพียง 10% ของธุรกิจไทยที่วางแผนควบรวมกิจการ เปรียบเทียบกับ 23% ของธุรกิจในอาเซียนและ 29% ของทั่วโลก นอกจากนี้ มีเพียง 3% ที่คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในความเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งต่ำกว่าธุรกิจในอาเซียนอย่างมาก (9%) ดังนั้น ธุรกิจไทยจึงควรรับรู้เกี่ยวกับกระแสความต้องการควบรวมกิจการในอาเซียนเนื่องจากตนอาจจะเป็นเป้าหมายด้วยเช่นกัน
ธุรกิจไทยส่วนใหญ่วางแผนที่จะใช้กำไรสะสมเพื่อขยายกิจการ โดย 22% คาดว่าจะใช้การสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร
สัมพันธภาพทางการค้าระหว่างประเทศ
ธุรกิจต่างๆ ทั้งในประเทศไทย (49%) และในภูมิภาคอาเซียน (55%) ต้องการเห็นรัฐบาลของตนพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศจีน และ 18% ต้องการเห็นสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับอินเดีย รวมทั้ง 48% ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ มีธุรกิจไทยไม่มากนักที่ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าเพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ (4%) หรือยุโรป (3%) ด้วยความเป็นจริงที่ว่าเอเชียมีการเติบโตสูงกว่า อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และยุโรปยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
42% ของธุรกิจในประเทศไทยสนับสนุนแผนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน (58%) โดยผลประโยชน์สำคัญจาก AEC ต่อธุรกิจไทยคือการลดอัตราภาษี (57%) โดยรวมแล้ว ธุรกิจในประเทศไทยนั้นมีทัศนคติด้านบวกเกี่ยวกับผลประโยชน์จาก AEC น้อยกว่าบริษัทในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งดูเหมือนว่าจะส่งผลให้ยังไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในระดับภูมิภาคที่กำลังจะมาถึง ทั้งที่ AEC ยังอาจส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่เป็นคู่แข่งรายใหม่ต่อประเทศไทย
ปัจจัยที่ยังคาดการณ์ไม่ได้
ปัจจัยที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ในระดับโลก – ระดับความรุนแรงของการชะลอตัวในกลุ่มธุรกิจในประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งแรกที่ชัดเจนเมื่อพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต้องอาศัยภาคการผลิต ยกตัวอย่างเช่น การส่งออกของประเทศไทยไปยังทวีปยุโรปและประเทศจีนอยู่ที่ 10% และ 12% ตามลำดับ
ประการที่สองคือปัจจัยในระดับภูมิภาค ภูมิภาคอาเซียนเป็นเพียงไม่กี่แห่งในทั่วโลกที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจ หากทว่าตามที่รายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่าข้อมูลจากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าธุรกิจไทยยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนกับ AEC และยังไม่มีการเตรียมพร้อมเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน
ประการที่สามคือปัจจัยภายในประเทศ กล่าวคือนโยบายประชานิยมของรัฐบาลนั้นไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักและอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรง นโยบายจำนำข้าวนอกจากจะใช้งบประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีแล้ว ยังดำเนินอยู่บนโมเดลทางธุรกิจที่บกพร่องซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียสถานะการเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่างรวดเร็ว ความเสียหายในระยะยาวนั้นยากที่จะพยากรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ณ เวลานี้อยู่ระหว่าง 45-50% และกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสูงกว่าระดับที่ยอมรับได้ว่า “ปลอดภัย” ที่ 28% จึงดูเหมือนว่านโยบายที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำที่สุดนั้นจะมีผลลัพธ์ในทางตรงข้าม
มองไปในภายภาคหน้า
โดยรวมแล้ว ภาพรวมของประเทศไทยยังคงอยู่ในเชิงบวก คาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2013 อยู่ที่ประมาณ 4.6% ซึ่งถือว่าดีทีเดียว ในขณะที่กลุ่มเศรษฐกิจส่วนใหญ่นั้นทำได้ดีที่สุดคือเพียงรักษาระดับการชะลอตัว
มร. แพสโค สรุปว่า “ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของประเทศไทยท่ามกลางภูมิภาคอาเซียนที่กำลังขยายตัว รวมกับสาธารณูปโภคที่ได้รับการยกระดับแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าจะยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจ การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) นั้นคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2013 ด้านเงินเฟ้อยังคงจะอยู่ในระดับที่สูง ประมาณ 3.5% ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่าระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ยังบริหารได้สำหรับตลาดเกิดใหม่ เรามองว่าจากปี 2014 จนถึงปี 2017 คาดว่าจะมีการขยายตัวของ GDP โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 4.8% ดังนั้นประเทศไทยยังคงจะเป็นจุดที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจเปรียบเทียบกับทั่วโลกที่ประสบกับการชะลอตัว”
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ลักษณ์พิไล วรทรัพย์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร แกรนท์ ธอร์นตัน โทร: 02 205 8142 อีเมล์: [email protected]
-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit