กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สช.
เวที สช.เจาะประเด็น ถกแก้ปัญหาเด็กติดเกม พบปัญหาโรคสมาธิสั้นลามโรงเรียนในต่างจังหวัด แนะผู้ปกครองคุมเวลาเล่นไม่เกิน 3 ชั่วโมง พร้อมออกฎหมายจำกัดอายุ ขู่ใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ฟ้องบริษัทผู้ออกแบบ ขณะที่วธ.เร่งแก้กฎหมายล้าหลังพร้อมจัดเรทติ้ง
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2555 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที สช.เจาะประเด็น "คุมเข้มเด็กเล่นเกมส์ : ลิดรอนสิทธิหรือช่วยสร้างสรรค์" เนื่องในโอกาส "วันประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก" โดยปัญหาเด็กติดเกมถือเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนเข้าร่วม ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กติดเกมพบว่าล่าสุดมีสัดส่วนถึง 14.4% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 อยู่ที่ 9% และปี 2549 อยู่ที่ 4% โดยแนวโน้มขณะนี้คือเพิ่มสูงขึ้นจนถึงขั้นต้องมีการบำบัดรักษา โดยทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯได้เข้าไปดูแลโรงเรียนทั่วประเทศ 24 แห่ง ใน 6 จังหวัดที่เป็นตัวแทนแต่ละภูมิภาค พบว่าทางโรงเรียนได้ขอความช่วยเหลือใน 2 เรื่อง คือ เด็กติดเกม และเด็กมีปัญหาการเรียนจากโรคสมาธิสั้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลที่ต่อเนื่องกัน
กระทรวงสาธารณสุขยังมีการเปิดคลินิกในโรงเรียน ชุมชน หรือตามคลินิกเอกชน เพื่อกระจายการรักษาไปสู่ระดับอำเภอหรือชุมชน แต่พบว่าไม่มีเด็กเข้ามาบำบัด ทั้งที่พ่อแม่ของเด็กที่มีปัญหา ควรรีบนำเด็กเข้ามารักษาโดยด่วน เพราะอาการจะดีขึ้น ล่าสุดปัญหาติดเกมได้ถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงสมาคมจิตแพทย์สหรัฐหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญแล้ว ขณะที่ประเทศจีนมีการนำเด็กติดเกมเข้าฝีกในค่ายทหาร ส่วนเกาหลีสร้างฝ่ายจิตเวชสำหรับเด็กติดเกม ดังนั้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องช่วยกันเยียวยาแม้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีความซับซ้อนมากก็ตาม
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยกับไอที” กล่าวว่า ปัญหาเด็กติดเกม ติดไอที ติดแชท เป็นปัญหาใหม่ในสังคมไทย ทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันในเชิงนโยบาย โดยมีข้อเสนอการแก้ปัญหาที่สำคัญคือ 1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่ากระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ รวบรวมความรู้และเผยแพร่ให้เห็นผลดี-ผลเสียของไอที ขณะที่ในระดับครอบครัว เยาวชน ชุมชน และโรงเรียนต้องมีระบบการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะนโยบายการแจกแท็ปเล็ตเด็กป.1 ยังไม่มีระบบการดูแลผลเสียที่เกิดขึ้น 2. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สนับสนุนพื้นที่และสร้างทางเลือกในกิจกรรมอื่นๆแก่เด็กและครอบครัว
3.สร้างระบบความปลอดภัยให้เด็ก เช่น การเล่นเกมต้องระบุเลขบัตรประชาชน เพื่อการจำกัดเวลา จำกัดอายุเด็ก การใช้เงินอย่างจำกัดในการเล่นเกม โดยทุกร้านเกมควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างสรรค์สำหรับเด็ก มีผู้ให้คำแนะนำสิ่งดีๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ ซึ่งผู้รับผิดชอบในทางปฏิบัติก็คือ คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 46 (7) ระบุว่าไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก” โดยเฉพาะการเล่นเกม ซึ่งผู้ผลิตเกมตั้งใจออกแบบให้คนติดเกมนานๆ ตรงนี้ถือว่าผู้ผลิตรู้อยู่แล้วแต่ไม่สร้างระบบป้องกันให้เด็ก น่าจะผิดกฎหมาย และเท่าที่ทราบการออกแบบ 1 เกมต้องใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป แต่ผลที่ออกมาคุ้มค่า เพราะมีบริษัทเกม ตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ต่อมาขยายเป็น 300 ล้านบาท
นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้อำนวยการสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านเกมทั่วประเทศอยู่ 5,000 แห่ง กระทรวงวัฒนธรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตแล้วกว่า 10 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 20 แห่ง แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตมากกว่า 100 แห่ง ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าเวลาไปตรวจสอบจะถูกอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเจ้าของร้านเป็นกลุ่มของผู้มีอำนาจแม้แต่ในเขตกทม.ก็ตาม จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่
การแก้ปัญหาของกระทรวงวัฒนธรรมได้เร่งแก้ไขกฎหมายควบคุมสิ่งที่ยังล้าสมัย ไม่ทันสถานการณ์ และเตรียมออกพ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ จะทำให้มีเม็ดเงินมาพัฒนาสื่อทางเลือกใหม่ และยังมีการสนับสนุนร้านเกมสีขาว มีการควบคุมเวลาเล่น เช่น เด็กอายุ 15-18 ปี เล่นได้ตั้งแต่ 14.00 -22.00น. หรือตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เล่นได้ตั้งแต่ 10.00 -22.00น. เป็นต้น และจะมีการออกเรทติ้งเกมว่า รูปแบบใดที่เด็กทั่วไปเล่นได้ หรือต้องจำกัดอายุ
"ขณะนี้ปัญหาเรื่องเนื้อหาไม่ใช่แค่ในร้านเกมแล้ว แต่ยังลามไปถึงโทรศัพท์มือถือที่ดูแลยากและเกินอำนาจของกระทรวงวัฒนธรรม และอนาคตโซเชียลเน็ตเวิร์กจะสร้างปัญหามากกว่าเกม เด็กสามารถเล่นเกมออนไลน์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก กำลังเผยแพร่อย่างรวดเร็วมาก" นายประดิษฐ์กล่าว
ด้านมุมมองของผู้ปกครอง นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เปิดเผยงานสำรวจโดยกลุ่มครอบครัวอาสาจำนวน 1,186 คน พบว่าในพื้นที่สำรวจมีร้านเกมตั้งอยู่ถึง 81% และในห้างสรรพสินค้ารอบชุมชนมีร้านเกม 68% ผู้ตอบคำถามจำนวน 43.5% บอกว่ามีร้านเกมถึง 1-5 แห่ง ส่วนอีก 6.4% บอกว่ามีเกินกว่า 5 แห่ง
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงปัญหารุนแรงในพื้นที่ซึ่งต้องแก้ไขอันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด 35% และร้านเกม 28.5% ส่วนผู้ตอบว่าร้านเกมไม่เป็นปัญหาเป็นครอบครัวที่ไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ถือเป็นเกราะป้องกันอย่างหนึ่งเพราะเด็กต้องผ่านในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ครอบครัวที่ติดเกมส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดตัว บางรายเป็นระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้น ควรร่วมกันหาทางออกไม่ให้เด็กเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน
นายวัชรา ค้าขาย ประธานชมรมเยาวชนดีเด่น เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้ร้านเกมเปิด 24 ชั่วโมง เพราะการติดเกมนำไปสู่ปัญหายาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การพนัน ดังนั้นผู้ปกครองควรสร้างกิจกรรม สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ซึ่งในส่วนของชมรมฯ มีการจัดค่ายอาสา กีฬา ดนตรี และนำเด็กติดเกมมาร่วม ถือว่าประสบความสำเร็จมาก -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit