1 ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งจีสต์

06 Dec 2012

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค

มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เผยถึง 1 ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าทางการรักษาโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ มะเร็งชนิดหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งยากต่อการวินิจฉัยและการรักษา ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว กลับมาเป็นซ้ำ และเซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆอีก แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน มียากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย หรือที่เรียกว่า “Targeted Therapy” ที่สามารถลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ และช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น

พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มะเร็งทางเดินอาหาร ชนิดจีสต์ (Gastrointestinal Stromal Tumor) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นโรคที่เพิ่งรู้จักกัน เมื่อประมาณ 20 -30 ปีที่ผ่านมา มะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์เป็นมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เนื่องจากมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์เกิดจากเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดคือเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ ดังนั้น จึงสามารถพบมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ได้ตามส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินอาหาร แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กระเพาะอาหาร รองลงมาได้แก่ในลำไส้เล็ก โดยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ 4,000–5,000 รายต่อปี ในส่วนของประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ ปีละ 250 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

มะเร็งชนิดจีสต์ จัดเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ยากต่อการวินิจฉัยและการรักษา เนื่องจากในช่วงแรก จะตรวจพบเนื้องอกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่องท้อง และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น ที่กระเพาะอาหาร ซึ่งมะเร็งชนิดจีสต์ ที่ยังคงอยู่บริเวณเดิมนั้น ซึ่งเรียกว่าการเกิดเนื้องอกเฉพาะที่ (Local Tumor) และเมื่อเนื้องอกจีสต์ เกิดการลุกลามขึ้น จะเกิดการแพร่กระจายของโรคไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นเนื้องอกจีสต์ ในระยะแพร่กระจาย ซึ่งบ่อยครั้งที่เนื้องอกจีสต์เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกตรวจพบและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้อง

ในปัจจุบันมีการรักษาหลายวิธีด้วยกัน บางรายใช้วิธีการผ่าตัดชิ้นเนื้อในช่องท้องออกไป แต่โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำก็มีค่อนข้างสูง หรือจะใช้วิธีแบบดั้งเดิม ที่ใช้กันมานาน คือ การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) และการฉายรังสี (Radiation) แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ กลับพบว่ามีการดื้อต่อการฉายรังสีและเคมีบำบัด และโรคมักกลับเป็นซ้ำอีกหรือมีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้ แต่ปัจจุบันการรักษามะเร็ง ทางเดินอาหารชนิดจีสต์มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยสามารถให้การรักษาเสริม (Adjuvant Therapy) ด้วย ยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย หรือที่เรียกว่า “Targeted Therapy” ให้กับผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดก้อนมะเร็ง ทางเดินอาหารชนิดจีสต์ออกได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีการแพร่กระจายของโรค ซึ่งผลการวิจัยล่าสุดพบว่า การรักษาเสริมด้วยยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายดังกล่าว สามารถลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง ทางเดินอาหารชนิดจีสต์ได้

นายริชาร์ด อาเบลา ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท โนวาร์ตีส ประเทศไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ให้การสนับสนุนมะเร็งวิทยาสมาคมในการจัดงานวันนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโยบายภาครัฐในด้านสุขภาพ จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์แก่ประชาชน และสนับสนุนโครงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งการวินิจฉัยโรคและการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ในประเทศไทย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พบได้ ไม่บ่อย และต้องการทักษะการวินิจฉัยที่ค่อนข้างแม่นยำ บริษัทจึงได้จัด โครงการ GIST Alliance ขึ้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์แก่ประชาชนผ่านสื่อ คนไข้ และผู้ดูแลผู้ป่วย และการจัดแคมเปญ GIST Sure เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ให้กับกลุ่มพยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ รวมถึงการบริหารจัดการและการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบองค์รวมโดยแพทย์สหสาขา และการสนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการและการประชุมระหว่างประเทศร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวนี้จะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้กับผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ได้

นอกจากนี้ โนวาร์ตีส มุ่งหวังในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาและการรักษา จึงได้ริเริ่มโครงการ ที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงยาและการรักษาทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้ก่อตั้งโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพปTM (GIPAPTM) โดยมอบยาอิมมาตินิบให้กับผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ (GIST) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) ทั่วโลกที่มีปัญหาด้านการเงินโดยไม่คิดมูลค่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 50,000 รายในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยโครงการจีแพปTM ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 9 แล้ว ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 3,000 ราย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและ ศูนย์แพทย์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 52 แห่ง มีแพทย์เข้าร่วมโครงการ 147 ท่าน ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการและยังคงได้รับยาทั้งสิ้นกว่า 1,600 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ (GIST) 524 คน และผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้องรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) 1,112 คน

นายสำราญ สมใจ ผู้หนึ่งที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์มากว่า 7 ปี กล่าวว่า อาการเบื้องต้นที่ผมเป็นคือคลำเจอก้อนที่ท้อง ซึ่งตอนแรกไม่ทราบว่าเป็นอะไรคิดว่าอาจจะเป็นเพราะอ้วนขึ้น แต่อยู่มาวันหนึ่ง ผมมีอาการปวดท้องมาก จึงรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยผลการตรวจทางการแพทย์ระบุว่า ผมเป็นโรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ต้องรีบรักษา ผมตกใจและคิดมากในช่วงแรก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับผม ในขณะนั้นผมเกษียณจากการทำงานได้ 2 ปี จากที่ผมเป็นคนดูแลแม่ แต่แม่กลับต้องมาดูแลผมแทน โดยคุณแม่ได้อยู่เคียงข้างและให้กำลังใจผมมาโดยตลอด อีกทั้งแพทย์ยังได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการรักษาพร้อมทั้งส่งต่อผู้ป่วย ทำให้ผมสามารถผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้นมาได้ ทุกวันนี้ผมดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี ทั้งการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ทานยาให้ตรงเวลา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ผมคิดว่า ผมโชคดีที่ได้รับการรักษาที่ดี ได้รับยาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผมสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และทำให้ผมได้มีโอกาสดูแลคุณแม่อีกครั้ง

-ณอ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net