กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--ปตท..
2 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย ประเภทการปลูก ส่งเสริมการปลูก และ ประเภทผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก รวม 44 ผลงาน จากผู้ส่งเข้าประกวด 252 ผลงาน ทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วันนี้
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2555 เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2555 ซึ่งจัดโดย มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่อง เชิดชู รวมทั้งเผยแพร่ผลงานการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นการส่งเสริมและขยายผลการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างแพร่หลาย เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลภายใต้แนวคิด "พลังชุมชน พลังปัญญา ปกป้องดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 29 - 30 พฤศจิกายน ศกนี้ ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท.
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เปิดเผยว่า การประกวดฯ ปีนี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 44 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทการปลูกและส่งเสริมการปลูก 18 รางวัล และประเภทผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝกรวม 26 รางวัล ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งสองประเภท จำนวน 20 ผลงาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ พระราชทานโล่รางวัล และอีก 24 ผลงาน ได้รับโล่เกียรติคุณจากองค์กรร่วมจัดการประกวดฯ โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดฯ ในปีนี้จำนวนทั้งสิ้น 252 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทการปลูกและส่งเสริมการปลูก 130 ผลงาน และประเภทผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก 122 ผลงาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เครือข่ายคนรักษ์แฝก ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ได้รับรางวัลประเภทการปลูกและส่งเสริมการปลูก ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน มีความเข้มแข็งและมีบทบาทมาก ตั้งแต่การสรรหาผลงานเข้าสู่การประกวด ทำให้มีผลงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ และทำงานด้านส่งเสริมขยายผล ให้มีพื้นที่การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพิ่มมากขึ้นในทุกภาค มีการนำเรื่องหญ้าแฝกไปบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้และประสบการณ์เรื่องหญ้าแฝก เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีการสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหญ้าแฝกมาเป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดการดำเนินงานด้านหญ้าแฝกที่มีมิติใหม่ๆ รวมทั้งโครงการการประยุกต์การใช้หญ้าแฝกร่วมกับวิธีกลและพืชอื่นเพื่อป้องกันภัยดินถล่ม ซึ่งเริ่มดำเนินการในปีนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันภัยพิบัติดินถล่มที่สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ด้าน ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ในปีนี้ เป็นปีที่ 7 ภายใต้แนวคิด “หญ้าแฝก อุ้มน้ำ โอบดิน” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย รวมทั้งยังเป็นการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยสมาชิกเครือข่ายคนรักษ์แฝกแต่ละภาค ได้จัดทำพื้นที่แปลงขยายพันธุ์กล้าแฝกเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมและขยายผลของเครือข่าย โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี (2555-2557) จะมีแปลงขยายพันธุ์ของเครือข่ายให้ครบทุกจังหวัด สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานหญ้าแฝกมิได้จำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานของภาครัฐ แต่สามารถขับเคลื่อนเห็นผลผ่านภาคประชาชนที่ทำงานในรูปแบบจิตอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทน ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กล่าวต่อว่า ในปีนี้ ปตท. ได้ริเริ่ม “โครงการการประยุกต์ใช้หญ้าแฝกร่วมกับวิธีกลและพืชอื่นเพื่อป้องกันภัยดินถล่ม” เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดินถล่มที่เกิดขึ้นทุกปีและยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนให้ชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นหันมาสนใจปัญหาภัยพิบัติเรื่องดินถล่มในพื้นที่ต่างๆ โดยคัดเลือกพื้นที่นำร่องจำนวน 14 แห่ง เพื่อทำการศึกษาวิจัย และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าของพื้นที่กับ ปตท. มีระยะเวลาการทำงานร่วมกัน 3 ปี และสรุปผลการดำเนินงานออกมาเป็นชุดความรู้ เพื่อเผยแพร่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า ปตท. พร้อมก้าวเดินร่วมกับพี่น้องเครือข่าย โดยจะส่งเสริมให้เครือข่ายทำงานเรื่องหญ้าแฝกเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit