พื้นดินของไทย

02 Dec 2012

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า บนพื้นดินที่เราอาศัยอยู่นี่ที่เรียกว่าผืนแผ่นดินไทย นั้นมีส่วนประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ? วันนี้รอบรู้ กับธรณี จะมาไขตอบนี้ให้รับทราบกันคะ

เรามาเริ่มกันที่ ประเทศไทย มีส่วนประกอบไปด้วยแผ่นเปลือกโลก (Plate,Block,craton,microcontinent) แต่ปัจจุบันเรียกว่า terrane มีขนาดที่ใหญ่ เชื่อมต่อติดกัน 2 แผ่นคือ แผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและแผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก

โดยพื้นที่ของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย ครอบคลุมบริเวณด้านตะวันออกของประเทศพม่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย พื้นที่ประเทศไทยที่อยู่ในส่วนของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทย รองรับด้วยหินตั้งแต่

มหายุคพรีแคมเบรียน (2500-542 ล้านปี)

มหายุคพาลีโอโซอิก (542-251 ล้านปี)

มหายุคมีโซโซอิก (251-65.5 ล้านปี)

และมหายุคซีโนโซอิก (65 ล้านปี – ปัจจุบัน)

ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนแผ่นเปลือกโลกอินโดจีนรองรับด้วยหินมหายุคพาลีโอโซอิ ก มหายุคมีโซโซอิก และมหายุคซีโนโซอิก แผ่นเปลือกโลกอินโดจีนและชาน-ไทย เคยมีประวัติว่าแยกตัวออกจากแผ่นเปลือกโลกกอนด์วานาที่อยู่บริเวณขั้วโลกใต้ หรือประเทศออสเตรเลียในปัจจุบัน

ผลจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดียเข้ามาชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในช่วงมหายุคซีโนโซอิก (65 ล้านปี – ปัจจุบัน ) ทำให้ชั้นหินของแนวสุโขทัย ( Sukhothai Fold Belt) และชั้นหินแนวเลย-เพชรบูรณ์ ( Loei-Petchabun Fold Belt ) ซึ่งอยู่ระหว่างขอบรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกชาน-ไทยและอินโดจีน เกิดการคดโค้งตัว และพัฒนาเกิดแนวรอยเลื่อนที่สำคัญในประเทศไทยหลายแนวด้วยกัน เช่น รอยเลื่อนตามแนวระดับ (Strike – slip fault) ในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รอยเลื่อนแม่ปิง รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ เช่น รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ – น่าน รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้นมีหินต่าง ๆ ที่รองรับพื้นที่ประเทศไทยไว้ จากการลำดับชั้นหินและการกระจายตัวของยุคหินที่เชื่อกันว่าอายุแก่ที่สุดไปหาน้อยสุด ตั้งแต่มหายุคพรีแคมเบรียนถึงตะกอนยุคควอเทอร์นารี แสดงให้เห็นโดยภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งสามารถอธิบายดังต่อไปนี้

หินมหายุคพรีแคมเบรียน เป็นหินที่มีอายุอยู่ในช่วง 2500 -542 ล้านปี ส่วนใหญ่แล้วเป็นหินที่แปรสภาพเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นหินแปรเกรดสูงจำพวกหินออร์โทไนส์ (หินแอนนาเท็กไซต์หรือหินมิกมาไทต์) หินพาราไนส์ หินซีสต์ หินแคลก์ซิลิเกตและหินอ่อนพบแผ่กระจายตัวอยู่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และทางภาคตะวันออกในเขตจังหวัดชลบุรี

หินมหายุคพาลีโออิกตอนล่าง เป็นหินที่มีอายุอยู่ในช่วง 542 – 359.2 ล้านปี ประกอบไปด้วยหินยุคแคมเบรียน ( 542-488.3ล้านปี ) ถึงหินยุคดีโวเนียน ( 488.3 – 443.7 ล้านปี) เป็นชั้นหินทราย หินดินดาน หินคาร์บอเนตและหินแปรเกรดต่ำ โดยจะโผล่ให้เห็นเป็นแนวยาวจากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตกตอนบน ผ่านลงมาทางบริเวณภาคตะวันตกตอนล่างจนถึงสุดเขตภาคใต้ และทางบริเวณภาคตะวันออก กลุ่มหินที่สำคัญในบริเวณภาคใต้ได้แก่ กลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน หินคาร์บอเนต กลุ่มหินปูนทุ่งสง ยุคออร์โดวิเชียน และกลุ่มหินทองผาภูมิยุคไซลูเรียนถึงคาร์บอนิเฟอรัส

หินมหายุคพาลีโอโซอิกตอนบน ประกอบด้วยหินยุคคาร์บอนิเฟอรัสถึงหินยุคเพอร์เมียน หินยุคนี้พบอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทยยกเว้นบริเวณที่ราบสูงโคราชเท่านั้น หินยุคคาร์บอนิเฟอรัสส่วนใหญ่เป็นหินทราย หินดินดานและหินโคลนปนกรวด มีหินเซิร์ตและหินปูนบ้าง ในขณะที่หินยุคเพอร์เมียนส่วนใหญ่เป็นหินปูนมีหินดินดาน หินทรายและหินเซิร์ต

หินปูนยุคเพอร์เมียนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนว คือ

1.ด้านซีกตะวันตกของประเทศไทยรวมถึงบริเวณภาคใต้ด้วยนั้นกำหนดให้เป็นกลุ่มหินราชบุรี

2.ด้านซีกตะวันออกครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และพื้นที่ตามแนขอบที่ราบสูงโคราช ด้านตะวันตกซึ่งมักพบว่ามีหินภูเขาไฟและหินอัลตราเมฟิกปนอยู่ด้วยโดยกำหนดให้เป็นกลุ่มหินสระบุรี

ทั้งสองกลุ่มนี้ในปัจจุบันเป็นแหล่งหินปูนสำหรับอุตสาหกรรมมปูนซีเมนต์และก่อสร้างที่สำคัญของประเทศ สำหรับยุคเพอร์เมียนในบริเวณภาคเหนือใช้ชื่อเรียกว่ากลุ่มหินงาว

หินมหายุคมิโซโซอิก เป็นหินที่อยู่ในช่วง 251-65.5 ล้านปี ได้แก่ หินยุคไนแอสซิก (251-199.6 ล้านปี) หินยุคจูแรสซิก (199.6-175.6 ล้านปี)และหินยุคครีเทเซียส (146-65 ล้านปี) ในช่วงยุคไทรแอสซิกเป็นการสะสมตัวขอชั้นหินดินดาน หินปูน และหินทรายในสภาพแวดล้อมภาคพื้นสมุทร หินยุคไทรแอสซิกที่พบว่าส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือภาคตะวันตก ได้แก่กลุ่มหินลำปาง แต่ก็มีปรากฏให้เห็นทางด้านชายฝั่งทะเลตะวันออกและภาคใต้เช่นกัน

สำหรับหินในช่วงยุคจูแรสซิก-ครีเทเซียส นั้นเป็นพวกหินทราย หินทรายแป้ง หินดินดานและหินกรวดมน โดยชั้นหินมีลักษณะสีแดงบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมภาคพื้นทวีป ขอบเขตหินยุคจูเรสซิก-ครีเทเซียสแผ่ปกคลุมบริเวณด้านภาคตะวันตกของภาคเหนือและในบางพื้นที่ของภาคตะวันตกตอนบน ภาคตะวันตกตอนล่างและบริเวณภาคใต้นั้นเป็นพวกหินดินดานและหินปูนยุคจูเรสซิก เกิดการสะสมตัวในสภาวะแวดล้อมพื้นสมุทร

หินมหายุคซีโนโซอิก ประกอบด้วยหินยคพาลีโอจีน นีโอจีนและหินยุคควอเทอร์นารี หินมหายุคนี้เป็นหินที่สะสมตัวบนบกและในทะเลลึกของแอ่งที่จมตัวลงไปในลักษณะเป็นบล็อกกึ่งกราเบนซึ่งวางตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ ทั้งนี้เกิดจากอิทธิพลการยกตัวของแผ่นดินและเกิดรอยเลื่อนในช่วงที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียเคลื่อนตัวขึ้นมาชนกับเปลือกโลกยูเรเซีย เมื่อ 40-50 ล้านปีผ่านมา หินดินดานและหินโคลนแอ่งเทอร์เชียรีพบกระจัดกระจายทั้งบนบกและในทะเล ทั่วประเทศกว่า 60 แอ่ง มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้านพลังงานเชื้อเพลิงเพราะเป็นแหล่งถ่านหิน ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ

พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศไทยปกคคลุมด้วยชั้นตะกอนยุคควอเทอร์นารีซึ่งเป็นตะกอนสะสมตัวที่ยังไม่แข็งเป็นหิน ส่วนใหญ่ปะกอบไปด้วย ตะกอน กรวด ทรายแป้ง ดินเหนียว ชั้นศิลาแลงและเศษหินที่ผุพังจากหินเดิม เนื่องจากขบวนการกัดกร่อนทำลายและพัดพาทางธรณีวิทยาโดยอิทธิพลของกระแสน้ำและกระแสลม แล้วเกิดการสะสมตัวบนตะพักลุ่มน้ำ บริเวณที่ราบน้ำท่วม ชายฝั่งทะเลและในทะลสาบ หินอัคนีในประเทศไทย มีหลายชนิดและหลายช่วงอายุตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิกถึงมหายุคซีโนโซอิก โดยแบ่งออกได้เป็น 3 แนว ดังนี้ แนวตะวันออก,แนวตอนกลาง และแนวตะวันตก

ส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิตและหินภูเขาไฟ โดยมีเมฟิกและอัลตราเมฟิก รวมอยู่ด้วย โผล่ให้เห็นเป็นบริเวณแคบ ๆ ตามแนวตะเข็บรอยธรณี ( Suture) ในเขตจังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนราธิวาส หินอัคนีเป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวแข็งของหินหนืดลาวา ( magma and lava) มีกำเนิดจากการหลอมเหลวของหินชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวโลก หินอัคนีที่เย็นตัวแข็งก่อนที่จะแทรกดันขึ้นถึงเปลือกโลก มักมีผลึกของแร่ขนาดใหญ่เรียกว่าหินอัคนีแทรกซอน ส่วนหินอัคนีที่ประทุขึ้นมาสู่ผิวโลกก่อนแล้วจึงเย็นตัวแข็ง มักมีขนาดของผลึกแร่ที่เล็กกว่าเรียกว่าหินอัคนีพุที่เกิดการเย็นตัวแข็งอย่างรวดเร็วมากทำให้เกิดเป็นหินที่มีเนื้อเป็นแก้ว ( obsidian)

หินอัคนีชนิดต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นหินอัคนีแทรกซอนประเภทหินแกรนิต ( granite )เป็นส่วนใหญ่ มีหินไดออไรต์ ( diorite)หินแกรโบร (gabbro)และหินอัลตราเมฟิกบ้างเล็กน้อย นอกจากนั้นก็มีหินอัคนีพุประเภทบะซอลต์( basalt )หินแอนดีไซต์ ( andesite )และโรไอโรต์ ( rhyolite) เป็นส่วนใหญ่

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net