กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--พม.
พม.แถลงข่าวจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวปี’๕๕ ปลุกกระแสคนไทยจับมือลดความรุนแรงในสังคม
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แถลงข่าวมจัดงาน “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕” วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ภายใต้แนวคิด “สุภาพบุรุษยุติความรุนแรง”หวังปลุกกระแสทุกภาคส่วน ร่วมแสดงพลัง ลดความรุนแรงใน สังคมไทย
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเด็กและสตรีจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายทารุณ ทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี ๒๕๕๐ มีเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายและมารักษาที่โรงพยาบาล จำนวน ๑๙,๐๖๘ ราย หรือ ๕๒ รายต่อวัน ในปี ๒๕๕๑ พบว่ามี ๒๖,๕๖๕ ราย หรือ ๗๓ รายต่อวัน ซึ่งหมายความว่า ในทุก ๆ ๒๐ นาที จะมีเด็กหรือสตรีถูกกระทำ ความรุนแรง ๑ ราย ในปี ๒๕๕๒ พบว่า มีจำนวน ๒๓,๕๑๑ ราย หรือ ๖๔ รายต่อวัน และในปี ๒๕๕๓ พบว่า มีจำนวน ๒๕,๗๔๔ ราย หรือ ๗๑ รายต่อวัน
รัฐบาลและองค์กรเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหา โดยเริ่มตั้งแต่การผลักดันให้มีมาตรการกลไกในการคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี และครอบครัว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ โดยมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ในขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรงเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและป้องกันไม่ให้กระทำความรุนแรงซ้ำอีก เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของครอบครัว
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒ เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชน ได้ระดมความร่วมมือในการจัดกิจกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศ ตลอดทั้งเดือน เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงดังกล่าว
ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิของตนเองในการใช้กฎหมายอันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี อีกทั้งเพื่อให้สังคมทุกภาคส่วนได้ร่วมมือเพื่อยุติความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้ริบบิ้นสีขาวอันเป็นสัญลักษณ์สากลในการเผยแพร่ และจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
สำหรับกิจกรรมยุติความรุนแรงในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กำหนดจัด “งานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕” ในแนวคิด “สุภาพบุรุษยุติความรุนแรง” ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างกระแสเกี่ยวกับ การรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ รวมทั้งรณรงค์เรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
โดยในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ได้กำหนดจัดงานแถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อ เด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ ขึ้น ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อประชาสัมพันธ์ พร้อมสร้างกระแส ความสำคัญของงานรณรงค์ยุติความรุนแรง ให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง เด็ก สตรี และสาธารณชนทั่วไปได้รับรู้ข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆในการช่วยยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว
ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ได้จัดกิจกรรมติดริบบิ้นสีขาว ให้แก่คณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงพลังรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ ต่อภาครัฐ และในทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมยุติความรุนแรงฯ
นอกจากนี้ก่อนวันงานรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อ เด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังได้จัดกิจกรรม เดินสายประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานรณรงค์ ไปยังสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สถาบันการศึกษา ตลอดจน หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารและรับรู้ เกี่ยวกับงานรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อ เด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี ๒๕๕๕ อย่างกว้างขวาง
สำหรับกิจกรรมการรณรงค์ ยุติความรุนแรงต่อสตรี ด้วยการติดริบบิ้นสีขาวเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา เมื่อปี ๑๙๙๑ (พ.ศ.๒๕๓๔) หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน ๑๔ ราย ซึ่งมีพื้นฐานปัญหามาจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ โดยผู้ริเริ่มการรณรงค์เป็นกลุ่มอาสาสมัครชายประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงเรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาและแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำรุนแรงต่อสตรี โดยการติดริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ เริ่มจากวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ต่อมาทั่วโลกจึงได้นำสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่มีความหมายถึง การไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบ มาเป็นสัญลักษณ์สากล การรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาวนี้จึงเป็นการรณรงค์เพื่อให้ผู้ชายทุกคน รวมทั้งคนในสังคมได้ปรับเปลี่ยนเจตคติ และพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา และร่วมแสดงตนเป็นเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง
กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ขอเชิญชวนหน่วยงาน และประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ร่วมแสดงพลัง "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และ ความรุนแรงในครอบครัว" เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว แจ้งเหตุหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทร ๑๓๐๐ ทั่วประเทศ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net