ลอรีอัล มอบทุนวิจัยแด่ 3 สตรีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ในโครงการ “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2555

26 Dec 2012

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์

ครบรอบ 10 ปี แห่งการยกย่องบทบาทสตรีในวงการวิทยาศาสตร์ไทยมาแล้ว 40 คน

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีไทย ผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2555 โดยในปีนี้โครงการได้ดำเนินการมอบทุนวิจัยและร่วมยกย่องบทบาทนักวิจัยสตรีไทยมาเป็นเวลาครบ 10 ปี โดยมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการยกย่องแล้วทั้งสิ้น 40 คน สำหรับพิธีมอบทุนวิจัยในปีนี้ จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 25 ธันวาคม โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธาน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นวาระพิเศษครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินการมอบทุนของโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ลอรีอัล ได้จัดให้มีการมอบทุนวิจัยใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ เนื่องจากผู้ก่อตั้งลอรีอัล มร.ยูชีน ชูแลร์ เป็นนักเคมีที่ค้นคว้าจนได้สูตรครีมย้อมผมที่ปลอดภัยต่อเส้นผมและหนังศีรษะเป็นรายแรกของโลก นอกจากนี้ ลอรีอัลยังได้เพิ่มมูลค่าทุนจากเดิม 200,000 บาทต่อทุน เป็น 250,000 บาทต่อทุน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและพันธะสัญญาของลอรีอัลในการร่วมสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ของไทยให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า รวมถึงการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในงานวิทยาศาสตร์

ในปีนี้ คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านสายงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศของโครงการฯ ได้ทำการคัดเลือกและมอบทุนวิจัยให้แก่ 3 นักวิจัยสตรี ที่มีโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเลิศ โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากคุณค่าของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นกับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ จริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และการเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย

โดยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนคือ ดร. ศันสนีย น้อยสคราญ จาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับงานวิจัยในหัวข้อ “ศึกษากลไกการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ และการตอบสนองของเซลล์ที่เกิดจากการติดเชื้อ เพื่อเข้าใจถึงพยาธิกำเนิดของโรคไข้เลือดออกเชื้อไวรัสเด็งกี่” นักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนในสาขาวัสดุศาสตร์ คือ ผศ. ดร. ปุณณมา ศิริพันธ์โนน จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับงานวิจัยในหัวข้อ “เทคโนโลยีระดับนาโนสำหรับการพัฒนาการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คือ ผศ. ดร. อทิตยา ศิริภิญญานนท์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาการกระจายขนาดของอนุภาค นาโนเชิงวิศวกรรม ในตัวอย่างอาหาร ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อม”

ดร. ศันสนีย น้อยสคราญ ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า “ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยทำงานวิจัยเรื่องเชื้อเริมที่ทำให้ตาบอด จากความรู้ในการศึกษาเชื้อไวรัสที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้สนใจศึกษาโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดอย่างเฉียบพลันในคน โดยมียุงลายเป็นพาหะ โดยปัจจุบันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ออกวางจำหน่ายทั่วไป งานวิจัยที่ทำจึงมุ่งเน้นถึงการศึกษากลไกในการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่และการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อการติดเชื้อโดยใช้ระบบเซลล์ของมนุษย์เป็นแบบจำลองของการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ในหลอดทดลองร่วมกับเทคนิคทางชีวเคมีและโปรตีโอมิกส์เพื่อค้นหาโปรตีนของมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับโปรตีน เอ็นเอสวัน (NS1) ของเชื้อไวรัสเด็งกี่ และทดสอบบทบาทหน้าที่ของโปรตีนเหล่านั้นที่มีต่อการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส การหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันและการตอบสนองของเซลล์ที่มีต่อการติดเชื้อ”

ผศ. ดร. ปุณณมา ศิริพันธ์โนน ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวัสดุศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยขั้นตอนมากมายตั้งแต่การผลิตเส้นใยจากพืชหรือสารเคมี ไปสู่การทอ ฟอกย้อมและปรับปรุงสมบัติด้วยการตกแต่งสำเร็จ แล้วจึงนำไปแปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม สิ่งทอมีการใช้น้ำและสารเคมีในขั้นตอนต่างๆ ในปริมาณสูง ทำให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำในระดับสูง โดยสารเคมีบางประเภทนั้นมีความเป็นพิษจึงก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายของการทำวิจัยจึงมุ่งเน้นทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สารเคมีในกระบวนการตกแต่งสำเร็จ รวมถึงการกำจัดสารปนเปื้อนในน้ำทิ้ง โดยใช้เทคโนโลยีระดับนาโนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอให้เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหวังว่างานวิจัยนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ สิ่งทอภายในประเทศ และช่วยลดปัญหามลภาวะทางน้ำ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการตกแต่งสำเร็จสิ่งทอของประเทศไทยไปสู่เทคโนโลยีสีเขียวที่ยั่งยืน”

ผศ. ดร. อทิตยา ศิริภิญญานนท์ ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “งานวิจัยจัดเป็นงานวิจัยสาขาเคมีวิเคราะห์ โดยเน้นการศึกษาการกระจายขนาดของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมในตัวอย่างอาหาร ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยได้พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคนิคการแยกแบบไหลภายใต้สนาม (field-flow fractionation) ในการวิเคราะห์ขนาดและการกระจายขนาดของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยนี้ คือการนำเสนอวิธีการวิเคราะห์ขนาดและการกระจายขนาดของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมในตัวอย่างต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการควบคุมคุณภาพ (quality control) และกระบวนการวิจัยและพัฒนา (research development) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่มีการใช้อนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึง การได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่ใช้ในการเฝ้าระวังและจัดการกับคุณภาพของน้ำ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรม”

นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ลอรีอัล ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 ได้ยกย่องนักวิจัยสตรีไทยรวม 40 คนแล้วในปีนี้ นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มเติมในสาขา “วิทยาศาสตร์เคมี” ซึ่งเป็นสาขาที่มีความใกล้ชิดกับลอรีอัลเป็นอย่างมาก เพราะผู้ก่อตั้งลอรีอัล มร. ยูชีน ชูแลร์ เป็นนักเคมี ผู้ที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการค้นคว้าและวิจัย และเชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกุญแจดอกสำคัญไป สู่คุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้น”

“ล่าสุด ลอรีอัล ประเทศไทย ได้จับมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เข้าไปร่วมสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน ภายใต้วิชา “วิทยาศาสตร์กับความงาม” หนึ่งในวิชาเลือกในหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สำหรับปีการศึกษา 2556 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การให้ความรู้กับเยาวชนยุคใหม่ ในเรื่องพื้นฐานโครงสร้างร่างกาย ปัญหาและการดูแลผิวพรรณ รวมถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อการดูแลความงามตามธรรมชาติที่สมวัย อีกทั้งให้มีจิตวิทยาศาสตร์ เข้าใจธรรมชาติ ที่มาของปัญหาต่างๆ และวิธีแก้ไขที่เหมาะสม”

โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยใน ปี 2545 ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ปัจจุบัน ได้ยกย่องนักวิจัยสตรีไทยที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี รวมแล้ว 40 คน และยังคงจะดำเนินงานเพื่อเชิดชูเกียรติของนักวิจัยสตรี ผู้อุทิศตนช่วยพัฒนาประเทศผ่านความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ต่อไปเป็นประจำทุกปี

ลอรีอัล เผย สามนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ผู้ได้รับทุน โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 โดย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนคือ ดร. ศันสนีย น้อยสคราญ (ซ้าย) จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สาขาวัสดุศาสตร์ คือ ผศ. ดร. ปุณณมา ศิริพันธ์โนน (กลาง) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คือ ผศ. ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ (ขวา) จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการดำเนินการ โครงการฯ ได้มอบทุนและยกย่องนักวิจัยสตรีไทย มาแล้ว 40 คน

ลอรีอัล เผย สามนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ผู้ได้รับทุน โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 โดย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนคือ ดร. ศันสนีย น้อยสคราญ (ซ้ายสุด) จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สาขาวัสดุศาสตร์ คือ ผศ. ดร. ปุณณมา ศิริพันธ์โนน (ที่ 2 จากซ้าย) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คือ ผศ. ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ (ที่ 3 จากซ้าย) จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการดำเนินการ โครงการฯ ได้มอบทุนและยกย่องนักวิจัยสตรีไทย มาแล้ว 40 คน โดยมี นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ (ขวาสุด) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ตัวแทนจากบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมแสดงความยินดี

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net