กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--สสส.
ครั้งแรกในประเทศไทย...ที่มีการประกวดผลงานสื่ออ่านสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities : LD) ขึ้น โดยเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา มีคุณครู พ่อแม่ผู้ปกครอง หน่วยงาน องค์กร ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ได้เข้ามาถึงโค้งสุดท้ายของการตัดสินผลงานรอบชิงชนะเลิศ และพิธีมอบรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารศิโรจน์ ผลพันธิน ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยได้รับเกียรติจาก รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะ5, ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทาง แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เป็นผู้มอบรางวัล พร้อมโล่รางวัลและของที่ระลึก
ผลการตัดสินผลงานรอบชิงชนะเลิศ ช่วงชั้นที่ 1 ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสุพรรณี อ่อนจาก โรงเรียน วัดลานบุญ , นางเชาวนี ติยะบุตร โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับรางวัลชมเชย, นางรัตชนก พูลสมบัติ โรงเรียนเทศบาล 1 วัดลำลูกบัว ได้รับเกียรติบัตรผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ส่วนช่วงชั้นที่ 2 นางเครือวัน ทรัพย์สมบูรณ์ และนางสาววันวิสา กระศิริ โรงเรียนสามเสนนอก ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ
1, นางสาวแก้วกาญจน์ คำมะนาง และนางสาวดารินทร์ สุขสวัสดิ์ โรงเรียนอนุบาลนานาชาติตากสินระยอง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ
2, นางสาวกรกช เจริญสุข โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลชมเชย
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ซึ่งเป็นผู้จัดโครงการในครั้งนี้ ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ กล่าวว่า การที่แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและองค์กรเครือข่าย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, ศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และ นิตยสาร Mother&Care ร่วมกันดำเนินโครงการประกวดสื่อการอ่านสร้างสุขสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities :LD) ขึ้นนั้น
เพราะมีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ทุกคน สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ หากพ่อแม่ ตลอดจนครูผู้สอนมีความรู้ ความเข้าใจ จะทำให้สามารถช่วยเหลือเด็กได้ และยิ่งได้ผลเร็วขึ้นหากเด็กได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสม และมีสื่อที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาที่เข้าถึงได้” จึงเป็นที่มาที่ไปของการจัดประกวดในครั้งนี้ โดยมีการแบ่งประเภทสื่อที่ส่งเข้าประกวดเป็น 2 ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 - ป.3) และช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 – ป.6) มีการคัดกรองผลงานรอบแรก และรอบชิงชนะเลิศ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญ ทั้งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อสำหรับเด็กและนักวิชาการที่ทำงานด้านเด็ก LD โดยตรง นางสุดใจ กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมของการจัดประกวดครั้งแรกนี้ มีผลงานส่งเข้าร่วมจากทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากหลายหน่วยงาน นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการจุดประกายให้สังคมหันมาผลิตสื่ออ่านที่มีคุณภาพเพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์หนังสือ และสื่ออ่านที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย และคุณลักษณะอันพึงประสงค์สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นให้เด็กได้ใช้การอ่านไปสู่การสร้างสุขในชีวิต และนำศักยภาพที่สำคัญของการอ่านสร้างความสุขเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ในโรงเรียนต่อไป
ได้ทราบภาพรวมของโครงการสื่ออ่านสร้างสุขไปแล้ว มาที่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นคือ สิ่งสำคัญของการสร้างสรรค์สื่ออ่านที่ดีนั้นเป็นอย่างไร อาจารย์ชีวัน วิสาสะ ซึ่งเป็นทั้ง นักเขียน นักเล่านิทาน และผู้เชี่ยวชาญสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็ก กล่าวถึง "หัวใจของการสร้างสรรค์หนังสือฯ" ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“จุดมุ่งหมายของการสร้างหนังสือและสื่อเพื่อเด็ก คือ พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพและแก้ไขข้อบกพร่อง แต่ด้วยความตั้งใจ ปรารถนาดีของผู้ใหญ่มักจะสร้างสื่อที่มุ่ง "สอน" มากเกินไปโดยอาจลืมคิดถึง "การเรียนรู้" ของเด็ก ซึ่งต้องเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กที่มีทั้งนิสัยบางอย่างเหมือนกันหรือจริตที่แตกต่างกัน หากผู้สร้างสื่อมีความเป็นเด็กอยู่ในตัวและดึง "หัวใจของความเป็นเด็ก" ออกมาใช้ ก็สามารถสร้างสรรค์หนังสือและสื่อเพื่อพัฒนาและเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กได้อย่างมีชีวิตชีวาเหมาะกับเด็กทุกคนอย่างแท้จริง”
สุดท้ายนี้ ได้ทราบถึงหัวใจของการสร้างสรรค์หนังสือแล้ว อีกด้านหนึ่งจะเป็นแง่มุมดีๆ ที่ทำให้เรา ได้ทราบว่าความสำคัญของสื่ออ่านนั้น สามารถสร้างสุขให้เด็ก LD ได้อย่างไร จาก ผศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก LD ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้ด้วย
“การที่เด็กได้อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาตรงกับความสนใจตามวัย ความยาวพอเหมาะ การนำเสนอมีรูปแบบน่าติดตาม ทำให้เด็กสนุก เข้าใจเนื้อหา และสามารถอ่านได้เองจนจบ เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจที่ ทำได้สำเร็จ เพลิดเพลิน และจดจ่อมีสมาธิ ได้สะสมความรู้ และคุณธรรมจากเนื้อเรื่อง เกิดความคิดสร้างสรรค์จินตนาการขณะที่อ่าน รวมทั้งเรียนรู้การมีความสุขด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการเล่นเกม ซื้อวัตถุ หรือเรียกร้องความสนใจจากคนภายนอก เมื่อเด็กมีความสุขจากการอ่าน เด็กจะอ่านมากขึ้น การพัฒนาทางปัญญาก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย”
จากความคิดเห็นเบื้องต้นของผู้ค่ำหวอดในแวดวงการทำงานด้านเด็กแถวหน้าของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ครู พ่อแม่ และคนที่อยู่รอบข้าง ล้วนแต่มีความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ แน่นอนว่า “สื่ออ่าน” ที่ดี ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยกระตุ้น และพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสร้างสุขให้กับเด็กในการเรียนรู้ ให้กับเด็ก LD ได้เป็นอย่างดี...เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว..คุณเลือกสื่อการอ่านที่เหมาะสมกับเด็กแล้วหรือยัง???
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.happyreading.in.th , www.motherandcare.in.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2241-8000 ต่อ 327
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit