กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--เดอะบิ๊กพอตเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น
หนึ่งชีวิตที่น่าอิจฉาที่สุดคือการค้นพบว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของการมีชีวิตอยู่คืออะไร เช่นเดียวกับคุณลุงสุดใจ-คุณป้า ทองห่อ จำปา สมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรุ่นแรกของเมืองไทยที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยที่ดินจำนวน 25 ไร่ พร้อมแม่โคสาว 6 ตัว เพื่อลงแรงให้ “คนเลี้ยงโคนม” กลายเป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทย หนึ่งในภารกิจท้าทายของ องค์การส่งเสริมกิจการโคนม หรือ อ.ส.ค. ที่วันนี้ชีวิตจริงของครอบครัว “จำปา” ได้พิสูจน์แล้วว่านี่คือ “โคนมอาชีพพระราชทาน” ที่สร้างอนาคตให้กับครอบครัวได้
“สุดใจ จำปา” หนุ่มน้อยจากที่ราบสูง จ.ศรีษะเกษ หนีบพกวุฒิการศึกษาระดับปวช.จากวิทยาลัยเกษตรกรรม บ่ายหน้ามาจากบ้านเกิด เพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการของ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ด้วยอัตราเงินเดือน 500 บาท เมื่อปี 2505 เพราะเชื่อว่า ตนคงเอาดีได้ด้วยอาชีพนี้ และเมื่อบรรจุแล้วสุดใจยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมในหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและดูแลโคนมครั้งแรก ที่ศูนย์การเลี้ยงโคนม จ.ชลบุรี ของอ.ส.ค. ยิ่งทำให้เขามั่นใจว่า โคนมพันธุ์เรดเดนจากเดนมาร์กพันธุ์นี้ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่สดใสของเกษตรกรไทยในที่สุด
จากนั้นสุดใจยังได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนโคนมรุ่นแรกของ อ.ส.ค.ที่เปิดให้การอบรม ตั้งแต่ปี 2506-2511 ตลอดระยะเวลา 5 ปี และที่สุดได้ผ่านการสอบคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเป็นเกษตรกรที่ได้รับพระราชทานที่ดินสำหรับเลี้ยงโคนม จากจำนวนทั้งหมด 150 ครัวเรือน ได้รับพระราชทานที่ดินจำนวน 25 ไร่ พร้อมโรงเรือน และ แม่โคสาว อีก 6 ตัว โดยมีเงื่อนไขว่า 3 ปีแรกยังไม่ต้องชำระเงินต้นและดอก ตลอดระยะเวลา 10 ปีหากนำเงินมาชำระ 3 แสนบาท จึงจะได้สิทธิ์ขาดในการดูแลที่ดิน และลูกโคผู้ที่เกิดขึ้นระหว่างเลี้ยงจะเป็นของ อ.ส.ค. และมี อ.ส.ค.เป็นพี่เลี้ยงในการเลี้ยงโคนมทั้งหมด
“ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า เป็นอาชีพ เรามีครอบครัว เพียงแค่ลงแรงอย่างน้อยก็มีที่อยู่ที่กิน ซึ่งคุณป้าเองก็มีที่ดินที่ปลูกน้อยหน่าบ้าง ข้าวโพดบ้าง ที่ต้องทำเสริม เพราะแม่โคที่ได้มาตอนนั้นยังไม่ให้น้ำนม อาหารสัตว์ก็อาศัยเกี่ยวหญ้าขนตามริมคลองมาเลี้ยง เวลามีปัญหาทั้งเรื่องโรค หรือเรื่องการผสมเทียมจะมีเจ้าหน้าที่ อ.ส.ค.มาเป็นพี่เลี้ยงให้”
วันเริ่มต้นเป็นสมาชิก อ.ส.ค.ของลุงสุดใจมีป้าทองห่อคู่ชีวิตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการสร้างให้จำปาฟาร์มแข็งแรงขึ้น เพราะนอกเหนือจากการทำไร่น้อยหน่า ไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลังผลัดเปลี่ยนตามฤดูกาลแล้ว ในวันนั้นสองสามีภรรยายังต้องเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เพื่อเสริมให้มีรายได้เพิ่มเติมในช่วงที่ น้ำนมยังไม่สามารถเป็นรายได้หลักของครอบครัวได้
จากแม่โคสาว 6 ตัว นับแต่ปี 2505 นั้น วันนี้จำปาฟาร์มของลุงสุดใจมีจำนวนโคนมทั้งสิ้นกว่า 80 ตัว ที่สามารถให้น้ำนมได้วันละ 500 กิโลกรัมต่อวัน ที่ส่งให้ อ.ส.ค.ทั้งหมดในกิโลกรัมละ 17.30 บาท สำหรับน้ำนมเกรด 1 และลดหลั่นกันไปตามคุณภาพน้ำนม “สองคนเราก็ทำไปปรับปรุงไปขยายไปเรื่อยๆ ตอนไหนที่ทำไม่ไหวเยอะเกินไปก็ขายออกไป ลูกๆ 3 คนตอนแรกที่เรียนจบมาเขาก็ไปทำงานบริษัทเอกชน ไม่ได้มาช่วย เหนื่อยทำไม่ไหวก็ต้องขาย ยิ่งตอนที่ลูกเรียนด้วยแล้วช่วงนั้นค่อนข้างหนักมาก จนวันนี้ลูกทุกคนกลับมาช่วยงาน เพราะเห็นว่าพ่อแม่แก่แล้วทำไม่ไหว ผมก็เริ่มที่เก็บโคสาวไว้เพิ่มขึ้นเพื่อขยายต่อไป” ลุงสุดใจเล่าพร้อมรอยยิ้ม
วันนี้จำปาฟาร์มมีทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาดูแลรับช่วงต่อ และเป็นช่วงที่สำคัญเพราะ 2 ลูกชายและ 1 ลูกสาว กลายเป็นกำลังหลักที่จะมาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการภายในฟาร์มให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยได้เข้ามาปรับเปลี่ยนนำเครื่องรีดนมโคมาใช้ได้ราว 3 ปี เพื่อให้ได้น้ำนมคุณภาพและทันเวลาในการจัดส่งน้ำนมมากขึ้น หรือขายลูกโคเพศผู้ให้สำหรับฟาร์มที่ต้องการ และยังสามารถผสมข้ามสายพันธุ์ที่มีน้ำนมเพิ่มขึ้นได้ และมูลโคที่เกิดขึ้นได้มีการบริหารจัดการให้เป็นระบบเพื่อขายต่อชัดเจนมีรายรับรายจ่ายที่แน่นอนลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการผลิตทั้งหมด ทำให้รายได้ที่รั่วไหลจากระบบการดูแลที่ไม่รัดกุม กลับมาเหลือเป็นกอบเป็นกำยิ่งขึ้น
“แม่โคตัวไหนที่เริ่มให้น้ำนมน้อย ป่วยเป็นเต้านมอักเสบเรื้อรัง หรือมีความเสี่ยงในการแท้งลูกบ่อย เราก็จะขายออก เพราะมันจะเสียเวลาในการดูแลมาก ไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ลูกชายทั้งสองคนที่เข้ามาก็เข้ามาจัดระบบให้ชัดเจน เช่นโรงรีดนมก็แบ่งสัดส่วนให้สะดวกขึ้น พื้นที่ 25 ไร่ก็แบ่งสัดส่วนในการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เพื่อให้มีอาหารเพียงพอสำหรับช่วงฤดูแล้ง ที่เมื่อก่อนผมทำกัน 2 คนตายาย ก็ทำไหวบ้างไม่ไหวบ้าง”
เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรนั้น ลุงสุดใจพูดปนยิ้มว่า วันเริ่มต้นนั้นก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าใครจะเป็นคนที่ดื่มนมวัว แต่มั่นใจอย่างหนึ่งว่า เมื่อเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯแล้ว “โคนมอาชีพพระราชทาน” นับเป็นสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์ท่าน ที่ทรงพระราชทานอาชีพใหม่ให้แก่ประชาชนชาวไทย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ มีอาชีพที่เลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ แม้แต่จิตวิญญาณที่ตนมีคือ ลมหายใจของเกษตรกร ที่รับใช้แผ่นดินมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ จึงเชื่อว่า การลงแรงเป็นเกษตรกรของตนคงเป็นการลงทุนที่ง่าย และถือว่าเป็นการรับใช้และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยชีวิตของการเป็นเกษตรกรคนหนึ่ง ซึ่งได้ทำอาชีพที่สุจริต มีรายได้ที่มั่นคง และดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ก็สามารถนำพาครอบครัวให้มีชีวิตความสุขได้
“จำปาฟาร์ม” คือ ฟาร์มขนาดใหญ่ฟาร์มหนึ่งของพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ. สระบุรี ที่มีจำนวนโคนมสูงถึง 83 ตัวและจะเพิ่มเติมอีกแน่นอนเมื่อทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหารจัดการ และยังเป็นฟาร์มยุคแรกที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 50 ปี เพราะเกษตรกรที่ได้รับพระราชทานที่ดินในรุ่นแรก ทั้ง 150 ครัวเรือนนั้น เหลือไม่ถึง 10 ครัวเรือนที่ทำต่อเนื่อง เพราะต่างก็แยกย้ายหรือเลิกทำอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกันไปแล้วตามวันเวลา และด้วยกระแสของทุนนิยมที่กำลังไหลเข้าสู่มวกเหล็ก ดินแดนคาวบอยแห่งเมืองไทย หากแต่ลุงสุดใจและป้าทองห่อ ยังยึดมั่นว่า “นี่คือโคนมอาชีพพระราชทาน” ที่สองตายายสามารถส่งต่อถึงมือลูกและหลานได้นั่นเอง
ข้อมูลจำเพาะ อายุการให้น้ำนมของโคสาวเฉลี่ย 10 - 15 ปี เวลารีดนมวันละ 2 เวลา เช้า 6.00 น. รอบบ่าย 13.30 น. ก่อนรีดนมทุกครั้งต้องอาบน้ำแม่โคเพื่อทำความสะอาดหลังรีดนมพาไปกินหญ้า เฉลี่ยแม่โคให้น้ำนม 20-30 กิโลกรัม : ตัว มูลวัวแห้ง ถุงละ 30 บาท/ 50 กิโลกรัม โคสาวอายุ 2 ปีครึ่งสามารถผสมเทียมได้แม่โคตั้งท้อง 9 เดือน หลังผสมเทียมโคตั้งท้อง ได้ สามารถรีดนมได้ถึงอายุครรภ์ 7 เดือน แล้วหยุดเพื่อรอคลอด หลังคลอด 2 สัปดาห์แยกลูกโค เพื่อรีดน้ำนมต่ออีก 2 เดือน จากนั้นรอช่วงเวลาเพื่อผสมเทียมรอบต่อไป
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit