กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สมาคมกุ้งไทย
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย และคณะกรรมการสมาคมฯ ประกอบด้วย ทันตแพทย์สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษา นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2555 ว่า ผลผลิตกุ้งปี 2555 โดยรวมประมาณ 540,000 ตัน หรือลดลงจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 10 ตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัญหาโรคระบาด แต่ถือเป็นผลผลิตที่ค่อนข้างเหมาะสม ทำให้ราคาไม่ตกลงมากนัก อย่างไรก็ตาม ขอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาการถูกกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ รวมถึงเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีไทย-อียูก่อนถูกตัดสิทธิจีเอสพี
“คาดปี 2555 ผลผลิตกุ้งไทยอยู่ที่ประมาณ 540,000 ตัน ลดลงจากปี 2554 ที่ผลิตกุ้งได้600,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ10 เนื่องจากปัญหาการผลิต แต่ถือเป็นปริมาณที่รับได้ เพราะตลาดต่างประเทศไม่ได้เอื้ออำนวยให้ขยายตัว ส่งผลให้ราคากุ้งไม่ตกต่ำมากนัก ในขณะปีนี้ คาดว่าผลผลิตกุ้งทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2,024,500 ตัน ลดลงจากปี 2554 ประมาณร้อยละ13
ด้านการส่งออก จากข้อมูลล่าสุดการส่งออกกุ้ง เดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ 285,264 ตัน มูลค่า 79,134 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ปริมาณ ลดลงร้อยละ12.31 มูลค่าลดลงร้อยละ 12.67 โดยตลาดที่มีการส่งออกลดลงได้แก่ สหรัฐ และอียู ในขณะที่ตลาดเอเชีย ญี่ปุ่น และจีน เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
ท.พ.สุรพล ประเทืองธรรมกล่าวถึงบทบาทกุ้งไทยในตลาดโลกว่า “ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทบาทสูงในตลาดโลกมาโดยตลอด จากการที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ไทยมีส่วนในการกำหนดราคากุ้ง อย่างไรก็ตาม บทบาทของไทยในการเป็นผู้นำตลาดกำลังจะลดลงเรื่อยๆ เพราะทั่วโลกมีการผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นทุกประเทศ”
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ กรรมการบริหารสมาคมฯ และนายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกว่า“ปี 2555 นี้ การผลิตค่อนข้างมีปัญหา เกิดจากผลของสภาวะอากาศที่แปรปรวนตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 30-50 แต่ที่สำคัญที่สุดต่ออุตสาหกรรมคือการตลาด ภาครัฐต้อเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมกุ้ง คอยตอบโต้ และป้องกันการกีดกันการค้าต่างๆ จากคู่ค้าและกลุ่มผู้ไม่หวังดี”
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า “สำหรับปริมาณผลผลิตตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จนถึงปีนี้ ก็เป็นการยืนยันว่าปริมาณผลผลิตกุ้งที่เหมาะสมของประเทศไทยคือประมาณ 5 แสน ถึง 6 แสนตัน ปัญหามาจากหลายด้าน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การเลี้ยง รวมถึงทรัพยากรที่ใช้ในการเลี้ยง ถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณการผลิตให้อยู่ในสภาวะสมดุลย์ ก็จะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมกุ้งไทยโดยรวม”
นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า “การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ในฝั่งอันดามัน เป็นแหล่งผลิตกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำคุณภาพดีตรงตามความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ แต่ยังคงติดขัดในกระบวนการส่งออกโดยเฉพาะกุ้งมีชีวิตไปประเทศจีน อยากให้ภาครัฐรีบดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วนก่อนที่ตลาดจะตกไปอยู่ในมือของประเทศอื่น”
นายสมชาย ฤกษ์โภคี กรรมการบริหารสมาคมฯ และ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยโดยเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ ค่อนข้างดี มีความเสียหายเฉพาะไตรมาสที่สี่จากโรคตัวแดงดวงขาว ซึ่งเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ และการขาดแคลนลูกกุ้งเมื่อเดือน ส.ค.-ก.ย. ทำให้เกษตรกรต้องใช้ลูกกุ้งที่ไม่มีคุณภาพ”
สำหรับข้อเรียกร้องที่อยากฝากถึงภาครัฐ ได้แก่มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐ หรือเอดี(AD) ที่ยังคงเป็นอุปสรรคการส่งออกกุ้งไปยังตลาดนี้นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งไทยติดอยู่ในสถานะ Tier 2 Watch list เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งหากถูกจัดสถานะเป็นTier 3 จะทำให้ถูกใช้มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบอื่นๆ ต่อไป รวมถึงมาตรการจีเอสพีของสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ไทยจะถูกตัดสิทธิตามกฎระเบียบจีเอสพีใหม่และถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมาก ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากสำหรับอุตสาหกรรม
“ภาครัฐของไทยจะต้องดำเนินการเจรจาอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และอียู ทั้งในเรื่องการปลดแอกประเทศไทยออกจากมาตรการเอดี รวมถึงการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะปัจจุบันมีการส่งสัญญาณจากผู้นำเข้าว่าอาจมีการหาแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่นๆ หากทางสหรัฐฯ เห็นว่าการดำเนินการของภาครัฐไทยต่อการแก้ปัญหาแรงงานไม่เพียงพอในการปรับจาก Tier2Watch List ไปสู่สถานะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ไทยควรเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปโดยเร็ว เนื่องจากกฎระเบียบจีเอสพีรอบใหม่ค่อนข้างแน่นอนว่าไทยจะถูกตัดสิทธิ.ในขณะที่ ประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งเราทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย ก็ได้เริ่มการเจรจากับอียูไปแล้ว ซึ่งหากประเทศเหล่านี้เจรจาสำเร็จ ภาษีก็อาจเป็นศูนย์ ในขณะที่ไทยยังไม่มีการเจรจา ซ้ำยังถูกตัดสิทธิจีเอสพี โอกาสที่จะแข่งขันในตลาดอียู ถือว่าหมดหวัง ดังนั้นภาครัฐ ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อการแก้ปัญหาและขจัดอุปสรรคการส่งออกกุ้งไปยังสองตลาดนี้” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit