ปภ.เตือน 29 จว. ภาคเหนือ และอีสานตอนบนรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอากาศหนาวเย็น ช่วงวันที่ 7 – 10 มี.ค. 56

07 Mar 2013

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 29 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอากาศที่จะหนาวเย็นลงอีก ในช่วงวันที่ 7 – 10 มี.ค. 56 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยพร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย รวมถึงแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง และสภาพอากาศหนาวเย็น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า คลื่นกระแสลมตะวันตกจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง

จากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและอากาศหนาวเย็นลงอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ 29 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่สร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานทั้ง 29 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

พร้อมตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงงดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายได้

ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ตลอดจนดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

-กผ-