กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--M.O.Chic
วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีถือเป็น ‘วันช้างไทย’ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยในปีนี้ ‘วันช้างไทย’ คาบเกี่ยวอยู่ในระหว่างการประชุม CITES CoP16 ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-14 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดประชุม โดยมีการนำเสนอต่อที่ประชุม CITES CoP16 ให้ทุกประเทศเห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการหยุดการล่าและค้างาช้าง ที่ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด รวมทั้งมีมาตรการเชิงรุกทั้งการแก้ไขกฎหมายและการป้องปรามการลักลอบค้างาช้างอย่างเข้มงวด โดยท่านรัฐมนตรีแสดงท่าทีชัดต่อที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาไซเตสว่าประเทศไทยจะป้องกันการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างเต็มที่
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยถึงการนำเสนอมาตรการการป้องกันการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมายให้กับที่ประชุมคณะกรรมการไซเตสโดยมีแนวทางดำเนินตามแบบบูรณาการ 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยมาตรการระดับชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกับกรมศุลกากรและการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ดำเนินมาตรการคุมเข้มเพื่อตรวจจับการลักลอบค้างาช้างระหว่างประเทศ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของด่านศุลกากร ท่าอากาศยานนานาชาติและด่านตรวจสัตว์ป่าทั่วประเทศ มีการตรวจเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อสกัดการลักลอบนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า โดยเฉพาะงาช้างทุกประเภทอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดงาช้างแอฟริกันได้รวม 10 ตัน
ทั้งนี้ยังมีขั้นตอนสำคัญในการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศ คือ การออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้ผู้ประกอบการค้างาช้างบ้านต้องจดทะเบียนร้านค้า วัตถุดิบงาช้างต้องมีตั๋วรูปพรรณช้างกำกับ มีการจัดทำบัญชีสินค้าเพื่อควบคุมการนำงามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และต้องให้ใบเสร็จรับเงินแก่ผู้ซื้อทุกราย โดยจะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญ ยังมีการรณรงค์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการไม่ให้ขายผลิตภัณฑ์จากงาช้างให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะหากเพราะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางพร้อมนำผลิตภัณฑ์งาช้างติดตัวออกนอกประเทศ จะมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
มาตรการระดับภูมิภาค ประเทศไทยได้สนับสนุนสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อคุ้มครองช้างและควบคุมการค้างาช้าง ระหว่างอาเซียนและแอฟริกันโดยจัดตั้ง ASEAN-WEN, SAWEN, AFRICA-ASEAN-WEN เป็นต้น เพื่อสร้างความร่วมมือในการสืบสวน ปราบปราม และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สำหรับมาตรการระดับโลก ประเทศไทยได้ให้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น CITES, INTERPOL, UNODC, WCO, WORLD BANK ในการควบคุมการค้าและป้องกันอาชญากรรมด้านสัตว์ป่ามีการการแลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า และมีการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่าและพืชป่าที่ถูกกฎหมายอย่างเข้มงวด การป้องกันการล่าและค้างาช้างที่ผิดกฎหมายจำเป็นต้องดำเนินมาตรการในทุกมิติตั้งแต่ประเทศต้นทางจนมาถึงปลายทาง หากสามารถป้องกันการลักลอบล่าและค้างาช้างจากประเทศต้นทาง ย่อมเป็นวิธีการที่แก้ไขได้ตรงประเด็นปัญหามากที่สุด เพราะหากไม่มีงาช้างผิดกฎหมายขาย ความต้องการผลิตภัณฑ์จากงาช้างแอฟริกันจะไม่ได้รับการตอบสนอง คำสั่งซื้อจะหมดไป
นอกจากนี้ท่าน นายกรัฐมนตรีไปประกาศชัดเจนในที่ประชุมภาคีสมาชิกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้าง เพื่อนำไปสู๋การอนุรักษ์ช้างในภาพรวมต่อไป
‘ร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่ออนาคตของเราที่ยั่งยืน’ พบเห็นการลักลอบค้าพืชป่า สัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์งาช้างบ้านที่ผิดกฎหมายแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของการประชุม CITES CoP16 ได้ที่ www.citescop16thai.com
-กผ-