กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--มายด์ พีอาร์
สมาคมอีเลิร์นนิงจับมือซิป้า จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง Creative Content & Tools for Tablet & m-Learning
คาดกระตุ้นการผลิตและสร้างตลาดกลางเนื้อหาหรือคอนเทนท์ด้านการศึกษา
สมาคมอีเลิร์นนิงฯ จับมือซิป้า จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 เรื่อง Creative Content & Tools for Tablet & m-Learning คาดกระตุ้นการผลิตและสร้างตลาดเนื้อหาเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทยและรองรับการใช้งานแท็บแล็ต คอมพิวเตอร์ ตั้งเป้าผู้บริหาร ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานกว่าพันห้าร้อยคน
นายปรีชา เอมโอช นายกสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทยและสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ได้ร่วมกันจัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการครั้งที่ 5 ประจำปี 2556 เรื่อง Creative Content & Tools for Tablet & m-Learning ในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2556 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่บอลรูม ชั้น 1 อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยคาดว่าจะมีผู้บริหาร ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมงานกว่า 1,500 คน
ทั้งนี้ การจัดงาน Creative Content & Tools for Tablet & m-Learning มีวัตถุประสงค์เพื่อ นำเสนอแนวทางตัวอย่างและผลการใช้อีเลิร์นนิงและดิจิตอล คอนเทนท์ ในการศึกษา การเรียนการสอนและเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษาและสังคมของไทย พร้อมทั้งเพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิชาการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาของชาติต่อไป โดยคาดว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้าน อีเลิร์นนิงและดิจิตอล คอนเทนท์ รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนที่สนใจ หรือ ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์
นายปรีชา กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการพัฒนาอย่างมากทั้งในด้าน ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ส่งผลให้การจัดการศึกษามีการพัฒนาอย่างมากตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยได้พัฒนาการจัดการศึกษาให้ทันต่อ ยุคดิจิตอล คอนเทนท์ โดยใช้อีเลิร์นนิงเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการศึกษา โดยรัฐบาลได้ให้แท็บแล็บแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างเครือข่าย จะช่วยให้การศึกษาไทยได้รับพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานสากล ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตลอดชีวิต
นอกจากนั้น การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 ของประเทศไทยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตอล คอมเทนท์ เพราะจะช่วยส่งเสริมให้การจัดการเรียนการสอนทันสมัยมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ ดังนั้น อีเลิร์นนิง และดิจิตอล คอมเทนท์ จึงเป็นทางเลือกของผู้บริหาร ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาไทยให้ทัดเทียมหรือก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ
สำหรับสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย เป็นสมาคมที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มนักวิชาการและผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับอีเลิร์นนิง โดยให้การสนับสนุน ส่งเสริมค้นคว้า แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ให้การบริการด้านอีเลิร์นนิง โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมด้านอีเลิร์นนิงต่างๆ
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit