กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีบวงสรวงบานประตูประดับมุก หอพระมณเฑียรธรรมในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถอดบานประตูมุกบานเก่าและเตรียมการติดตั้งบานประตูมุกบานใหม่ โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวง
นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อปีพ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรจัดสร้างบานประตูประดับมุกหอพระมณเฑียรธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำนวน 1 ช่องประตู เพื่อทดแทนบานประตูมุกเดิม ซึ่งมีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นบานประตูในพระอุโบสถของวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่จารึกฉลุลายมุกเป็นตัวหนังสือสมัยอยุธยาว่า บานประตูคู่นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2295 เป็นบานประตูไม้ที่ช่างโบราณสมัยนั้นลงรักประดับลวดลายแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลายด้วยเปลือกหอยมุกไว้อย่างงดงาม ด้วยทรงห่วงใยว่าหากปล่อยให้ตากแดดตากละอองฝนจะทำให้ลวดลายประดับมุกและรักสมุกเสื่อมสภาพจนเกิดความทรุดโทรด และเยาวชนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอันทรงคุณค่าและงดงาม
“ขณะนี้กรมศิลปากร ได้จัดสร้างบานประตูมุกชุดใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 โดยทำมาจากไม้สักทองทั้งแผ่น บานประตูประดับมุกหอพระมณเฑียรธรรม 1 ช่องประตู ได้แก่ บานประตู 2 บาน บานซ้ายและบานขวา พร้อมอกเลา ขนาดแต่ละบาน กว้าง 72 เซนติเมตร สูง 363 เซนติเมตร ตัวบานหนา 9 เซนติเมตร อกเลาหนา 10 เซนติเมตร รวมความหนา 19 เซนติเมตรโดยประมาณ ทั้งนี้ การดำเนินการสร้างจะมีความประณีตวิจิตรบรรจงมากที่สุดโดยเฉพาะขั้นตอนการฉลุลวดลายใช้เวลานานถึง 3 ปี จากนั้นมีการประดับลวดลายมุกลงบนบานประตูโดยใช้กรรมวิธีและวัสดุแบบโบราณ คือใช้ยางรักเป็นตัวประสานพื้นและถมลาย ขัดแต่งผิวหน้าลายด้วยกระดาษทรายน้ำ จนปรากฏลวดลายประดับมุกครบทั้งบาน อย่างไรก็ตาม หลังจากพิธีบวงสรวงแล้ว กรมศิลปากรจะดำเนินการถอดและประกอบบานประตูใหม่เพื่อทดแทนบานเดิมโดยจะนำมาเก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษาผลงานชิ้นสำคัญของชาติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
-กผ-