ไมโครซอฟท์รณรงค์ Play It Safe สร้างกระแสผู้บริโภครู้เท่าทันซอฟต์แวร์เถื่อน

18 Mar 2013

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์

ไมโครซอฟท์ชูแคมเปญ Play It Safe หวังสร้างความตระหนักของสาธารณะชนต่อพิษภัยของซอฟต์แวร์เถื่อน พร้อมแนะแนวทางให้ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจสามารถแยกแยะและหลีกเลี่ยงการซื้อโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ ด้านตำรวจ บก. ปอศ. รวบ 2 ผู้ค้าหลอกลวงขายแผ่นปลอมให้ลูกค้า เตือนผู้บริโภคและเอสเอ็มอีระวังการซื้อซอฟต์แวร์ที่อาจได้ของเถื่อนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ในขณะเดียวกัน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ออกคำเตือนถึงผู้บริโภคให้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะถูกหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ซื้อควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้จัดจำหน่ายก่อนตัดสินใจซื้อ และควรซื้อซอฟต์แวร์จากผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษก บก.ปอศ. กล่าวว่า ตำรวจได้ทำการล่อซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จากผู้ค้า 2 รายในย่านหลักสี่และลาดพร้าว โดยพบของกลางเป็นแผ่นซีดีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์จำนวนทั้งสิ้น 10 แผ่น โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 รายรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ลงบันทึกการตรวจค้นจับกุมเพื่อดำเนินคดีต่อไป

สาเหตุที่มีการล่อซื้อดังกล่าวเนื่องจากบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการร้องเรียนจากผู้ซื้อซอฟต์แวร์ 2 ราย โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้ถูกหลอกลวงให้ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งผู้เสียหายทั้งสองรายเป็นผู้จัดการฝ่ายไอทีและฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และได้รับมอบหมายให้ทำการจัดซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มาติดตั้งเพื่อใช้ในองค์กร จึงได้เข้าไปสำรวจราคาซอฟต์แวร์ทางอินเตอร์เน็ต พบผู้จำหน่ายเสนอขายซอฟต์แวร์ที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด จึงได้ติดต่อเพื่อขอซื้อสินค้า แต่เมื่อนำมาติดตั้งกลับพบว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาเป็นโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์

“ผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนไม่น้อยมีเจตนาซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ แต่ถูกผู้จำหน่ายหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย เพราะจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วแทบไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์และซอฟต์แวร์เถื่อนได้ ทั้งนี้ บก. ปอศ. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว

ในขณะที่ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลรายที่ตกเป็นเหยื่อกล่าวว่า เธอตัดสินใจซื้อซอฟต์แวร์จากเว็บไซต์ยอดนิยมแห่งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าผู้ขายได้มีการขายซอฟต์แวร์ในเว็บไซต์นี้เป็นเวลานาน จึงไม่คิดว่าจะมีการขายซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย

“ส่วนตัวแล้วไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใคร เพราะเราต้องเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา บริษัทต้องเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ท้ายสุดทางบริษัทก็ต้องจ่ายเงินซื้อของจริงมาใช้อยู่ดี เข้าตำราเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ถ้าจะให้ดีผู้ซื้อควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็น ซอฟต์แวร์แท้” ผู้เสียหายกล่าว โดยขอสงวนชื่อของตนและชื่อองค์กร

“มันเป็นเรื่องน่าเจ็บใจ ทั้งๆที่ผมมีความตั้งใจซื้อซอฟต์แวร์ของแท้มาใช้ แต่กลับต้องมาโดนหลอกให้ซื้อซอฟต์แวร์เถื่อน ซึ่งหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่งก็จะ activate program ไม่ได้ ใช้งานอะไรก็ไม่ได้ ผมจึงอยากให้คนซื้อใช้ความระมัดระวัง ไม่หลงเชื่อในการซื้อซอฟต์แวร์ที่มีราคาขายที่ต่ำกว่าราคาในท้องตลาดเกินความเป็นจริง” ผู้จัดการฝ่ายไอที ที่ตกเป็นเหยื่อพ่อค้าซอฟต์แวร์เถื่อน กล่าว มร.เดวิด ฟินน์ Associate General Counsel แห่งศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในครัวเรือนและองค์กรธุรกิจทั่วโลกที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จะมีโอกาสติดมัลแวร์สูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง เสียเวลาในการทำงานและก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจอย่างมหาศาลในแต่ละปี ไมโครซอฟท์ คอร์ปเปอร์เรชั่น จึงได้ริเริ่มโครงการ Play It Safe โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจทั่วโลกต่อความสำคัญในการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ และเพื่อแนะแนวทางที่ทุกฝ่ายจะสามารถแยกแยะและหลีกเลี่ยงการซื้อโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ได้ด้วยตนเอง ไมโครซอฟท์ ได้ร่วมมือกับ The International Data Corporation หรือ ไอดีซี ได้ทำการวิจัยตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลกและพบว่าผู้บริโภคจะสูญเสียเวลาในการทำงานกว่า 1,500 ล้านชั่วโมงในปี 2556 และสูญเสียเงินกว่า 22,000 ล้านเหรียญ ในการซ่อมและกู้คืนข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการประเมินอีกว่าองค์กรธุรกิจทั่วโลกจะต้องใช้งบประมาณกว่า 114,000 ล้านดอลล่าร์ ในการรับมือกับการจู่โจมระบบคอมพิวเตอร์อันเกิดจากมัลแวร์

ไมโครซอฟท์ให้ข้อแนะนำแก่ผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจทั่วโลก ในการหลีกเลี่ยงการซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจดังนี้

  • ถามหาซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ทุกครั้ง
  • ซื้อจากผู้แทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือและหลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ ‘คุ้มค่าเกินความเป็นจริง’
  • ตรวจสอบให้มั่นใจว่าสินค้าที่ซื้ออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เรียบร้อย
  • หากเป็นคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์วินโดวส์ กรุณามองหาฉลากของแท้หรือใบรับประกันของแท้ที่ติดไว้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่ได้ติดตั้งระบบปฏิบัติการวินโดวส์แล้ว สำหรับการตรวจสอบหลังการซื้อ สามารถเข้าสู่ระบบได้ที่ www.howtotell.com เพื่อยืนยันว่าฉลากที่มีอยู่นั้นเป็นของแท้

-กผ-