ภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนนักวิจัยไทยพัฒนายาและวัคซีน เพื่อการเข้าถึงยา ยกระดับคุณภาพชีวิต

28 Mar 2013

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์

เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ฯ เชื่อ อีก 5 ปี ไทยพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการทำวิจัยทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง คาดจะมีการทำวิจัยยาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่า เพราะไทยมีความได้เปรียบในด้านขนาดของประชากรและต้นทุนต่ำ วอนภาครัฐสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ด้านจีเอสเคเทงบสนับสนุนการทำวิจัย 118 ล้านบาท เพื่อพัฒนายาและวัคซีนใหม่ป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ในประเทศร่วมกับศูนย์วิจัยยาและวัคซีนกว่า 20 ศูนย์ทั่วประเทศ

ศ.นพ. ปิยทัศน์ ทัศนาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมวิจัยทางการแพทย์ กรรมการอำนวยการและกรรมการบริหารเครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากประชากรสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น คนมีโรคมากขึ้น โรคต่างๆ มีการปรับตัวและวิวัฒนาการ จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีทางการแพทย์และการค้นคว้าวิจัยผลิตยาใหม่ๆ ขึ้นมาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยามากขึ้นแล้ว การวิจัยทางคลินิกด้านยาใหม่จึงมีความสำคัญ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย โดยได้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น กินยาน้อยลงแต่ได้ผล ทั้งนี้ ในการทำวิจัยยาใหม่ นักวิจัยจะมุ่งหวังว่า คนไข้จะได้รับยาใหม่ที่สามารถรักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หายเร็ว รักษาสะดวกขึ้น อยู่โรงพยาบาลน้อยลง มีความเจ็บปวดน้อยลง และเสียชีวิตน้อยลง

“ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีมาตรฐานการวิจัยยาอยู่ในระดับแนวหน้าแต่ขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการทำวิจัย ทำให้จำนวนโครงการวิจัยยาใหม่เข้ามาวิจัยในประเทศน้อยกว่าหลายประเทศตลอดมา ในปี 2555 จำนวนโครงการต่อจำนวนประชากรของประเทศไทยมีน้อยกว่าฮ่องกงถึง 7 เท่า เกาหลี 9 เท่าและสิงคโปร์ถึง 20 เท่า ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ป่วยและประชากรมีน้อยกว่าประเทศไทยมาก โครงสร้างพื้นฐานการทำวิจัย ที่แตกต่างที่ชัดเจน ที่ช่วยให้ประเทศเหล่านี้ทำวิจัยได้ในอัตราเร่งคือ การสนับสนุนอย่างจริงจังต่อเนื่องในระดับนโยบายของประเทศจากบนลงล่าง ซึ่งทำให้เกิดโครงสร้างและระบบวิจัยที่เอื้อการสร้างทีมนักวิจัยและ ทีมบริหารจัดการงานวิจัย หากรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เชื่อว่า ไทยจะมีการทำวิจัยยาใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 2-3 เท่าในเวลาอันสั้น เพราะไทยมีความได้เปรียบทั้งด้านขนาดของประชากรและต้นทุนต่ำ”

ศ.นพ. ปิยทัศน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันแม้รัฐให้ความสำคัญกับงานวิจัยและมีการส่งเสริมงานวิจัยแบบเครือข่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมาก (passive) จะเห็นได้จากในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายวิจัย กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ต้องพยายามเป็นอย่างมากในการวางโครงสร้างการทำวิจัยยาใหม่เพื่อรองรับการวิจัยร่วมกันของนักวิจัย พร้อมปรับปรุงระบบให้มีความรวดเร็วและเป็นมาตรฐานมากขึ้น เกิดการประสานร่วมกันระหว่างโรงเรียนแพทย์ อ.ย. กลุ่มกรรมการการทำวิจัยในมนุษย์ สภาวิจัยแห่งชาติ บริษัทบริหารงานวิจัย และบริษัทยาที่มีการทำงานเป็นเครือข่ายเดียวกัน แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มความพร้อมวิจัยยาของประเทศแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้ จึงคาดหวังว่าในช่วง 5 ปีนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ การพัฒนาของงานวิจัยคลินิกของประเทศผลักดันโดยระดับรัฐบาล ที่ส่งผลเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มจำนวนโครงการวิจัยยาใหม่และศักยภาพการทำวิจัยยาภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ของคนไข้ที่จะได้รับการรักษาที่ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

พ.ญ.สุเนตรา ชินะผา ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือจีเอสเค กล่าวว่า จีเอสเค มุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป โดยการปรับแผนงานด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัทฯ ให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยจีเอสเค เมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนายาและวัคซีนใหม่ เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ในประเทศไทยประมาณ 118 ล้านบาท โดยร่วมกับศูนย์วิจัยยาและวัคซีนต่างๆ กว่า 20 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้เวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย การวิจัยโรคไข้หวัดนก โรคมาลาเรีย โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งศรีษะและลำคอ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็ง เม็ดเลือด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลมชัก โรคเอดส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ จีเอสเคยังมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลด้านการศึกษาวิจัยยาสู่ภายนอกเพื่อให้มีการนำไปศึกษาค้นคว้าต่อไปเพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนายาและวัคซีน เช่น การเปิดเผยข้อมูลด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิกของจีเอสเค ทั้งผลเชิงบวกและลบกว่า 4,500 เรื่องบนเว็บไซต์ ซึ่งมีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ถึงเกือบ 10,000 ครั้งต่อเดือน รวมทั้งการเปิดให้นักวิจัยทั่วไปเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยแบบไม่ระบุนามในการศึกษาวิจัยทางคลินิกของ จีเอสเค โดยต้องขอเเละได้รับการพิจารณาอนุญาตการเข้าใช้ข้อมูลจากคณะผู้ชำนาญการอิสระ เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ต่อไป

“จีเอสเค มุ่งหวังว่า มาตรการต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายของบริษัท “ยาดีเข้าถึงได้” เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงยาและวัคซีนนวัตกรรมที่มีคุณภาพได้มากขึ้น และการประกอบธุรกิจอย่างเปิดเผยและโปร่งใส และคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญนี้ จะช่วยจุดประกายให้มีการเริ่มต้นศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ สำหรับใช้ในการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโดยรวม” พ.ญ.สุเนตรา กล่าว

-กผ-