กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก.มหาดไทย ลงนามความร่วมมือ หนุนโครงการ “หลักสูตรนักถักทอชุมชน : เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว” เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลไกดูแลและพัฒนาเด็ก เยาวชน ในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ได้ลงนามความร่วมมือสนับสนุน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 “หลักสูตรนักถักทอชุมชน : เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นให้มีบทบาทเป็น “นักถักทอชุมชน” ที่สามารถสร้างกลไกการจัดการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และยกระดับการทำงานด้านพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2556-2558) มี อบต.ที่จะเข้าร่วมโครงการ 60 อบต. ทั้งนี้โครงการจะเปิดรับสมัคร อบต. เข้าร่วมโครงการปีละ 20 อบต.
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล ดำเนินการ สนับสนุนการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีหลักการทำงาน คือ ต้องสนับสนุนให้ “พื้นที่” ลุกขึ้นมาเป็น “เจ้าภาพ” ในการวางเป้าหมาย และดำเนินการพัฒนาเด็ก เยาวชน ด้วยตัวเอง เพราะเป็นผู้ที่รู้ดีว่า “ทุกข์” และ “ทุน” ของชุมชนคืออะไร อยากเห็นเยาวชนของตนเองพัฒนาไปในทิศทางใด ที่สำคัญ คือ เมื่อผู้ปฏิบัติ ผู้รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่ ก็จะสามารถพัฒนางาน สานต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง
“จุดเด่น ของการสนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้ คือ เป็นการร่วมมือกันของ 3 องค์กร คือ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการพัฒนาชุมชน และเยาวชนมายาวนาน,สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นอยู่แล้ว และมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนด้านวิชาการ,การถอดบทเรียน และการวิจัย ที่จะสามารถสนับสนุนให้การพัฒนาหลักสูตรฯ มีความเหมาะสม และดียิ่งขึ้น ความพิเศษ อีกประการหนึ่ง คือ นอกจาก 3 องค์กรที่ลงนามร่วมกันแล้ว ยังมีอีก 18 องค์กร อาทิ องค์กรเครือข่ายของ สสส. ,สถานีโทรทัศน์ Thai PBS และอีกหลายองค์กร ที่ร่วมเป็นภาคียุทธศาสตร์ ซึ่งแต่ละองค์กรล้วนมี ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะในการพัฒนาเยาวชน เฉพาะด้าน อันจะช่วยหนุนเสริมเติมเต็มการทำงาน ในพื้นที่ของ อบต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถทำงานจัดบริการสาธารณะแก่พี่น้องประชาชนได้ โดยสถาบันมุ่งส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)ให้มีศักยภาพ คุณภาพและจริยธรรม รวมถึงการสร้าง “เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ” ในการพัฒนาบุคลากร ในฐานะที่สถาบันฯ เป็น “ข้อต่อ” กับองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ขณะที่มูลนิธิสยามกัมมาจล และ สรส. มีองค์ความรู้ด้านเยาวชน ชุมชนมากมาย เมื่อร่วมประสานกำลังกันพัฒนาหลักสูตรนี้มาถ่ายทอดสู่บุคลากรส่วนท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์ ในการสร้างทักษะ ความรู้ การเคลื่อนงานพัฒนากลไกการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัวให้มีประสิทธิผลที่ดี นำไปใช้ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของตนเองต่อไป
ทางด้าน นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การดำเนินงานในระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดองค์ความรู้การดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 1 ที่ได้ค้นพบว่า ชุมชนท้องถิ่นนั้น มี “ทุนทางสังคม” ในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเด็ก เยาวชน อยู่มากมาย แต่ขาด “กลไกการจัดการ” ที่ดี ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ และเป็นกลไกหลักในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นนั้น บุคคลากรที่รับผิดชอบ ยังคงขาด ความรู้ ความเข้าใจ และขาดทักษะในการจัดการ จึงทำให้การทำงานที่ผ่านมาเป็นไปในรูปของกิจกรรมที่ขาดความต่อเนื่อง สรส. จึงได้นำประสบการณ์ องค์ความรู้ ที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ถอดบทเรียน พัฒนาเป็นหลักสูตร “นักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว”
“หลักสูตรนักถักทอชุมชนฯ ต่างจากหลักสูตรฝึกอบรมบุคคลากรที่เป็นอยู่ คือ เป็นหลักสูตรที่ประกอบด้วยความรู้ภาคทฤษฏี และการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง โดย สรส.จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (coach) ทำหน้าที่จัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมอบรมฯ รู้จัก เข้าใจชุมชน ของตนเอง สร้างแรงบันดาลในการเรียนรู้ เพื่อให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาร่วมคิด ร่วมทำ ซึ่งในส่วนของการเรียนรู้จากการทำงานจริง ที่เป็นจุดเน้นของหลักสูตรฯ สรส.จะทำหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดข้อคิด ความรู้ และแรงจูงใจ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขับเคลื่อนงานในชุมชน และติดตามนิเทศเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้กับการปฏิบัติ จนสัมผัสผล เห็นคุณค่าของความรู้ และการทำงานในมุมมองใหม่ ขณะเดียวกันทีมงาน อปท. จะได้รู้จักภาคีซึ่งหมายถึงทุนภายนอกที่มีองค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และเมื่อถึงจังหวะที่เขาอยากจะได้องค์ความรู้ ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงสิ่งดีๆ จากทุนภายนอกไปใช้เป็นเครื่องมือยกระดับการทำงานได้”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ สิริลักษณ์ สัจจาพันธ์ (หวาน) โทร 0-2270-1350-4 ต่อ 111
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit