กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--เซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทส์
เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มธ. ศูนย์รังสิต จัดทำผลสำรวจด้านอสังหาริมทรัพย์ชี้ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟความเร็วสูงถึง 87.7% เน้นย้ำ อยากให้เส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เกิดก่อน
บริษัท เซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดทำผลสำรวจด้านอสังหาริมทรัพย์ เรื่องความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด หรือคอนโดมิเนียม แบบใกล้โครงการแนวรถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail) ใน 57 พื้นที่ 3 จังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี โดยผลสำรวจชี้หากภาครัฐเริ่มดำเนินนโยบายเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเมื่อไหร่ มีผลต่อประชาชนในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงถึง 87.8% และอีก 12.3% บอกไม่มีผลต่อการจัดสินใจซื้อ โดยเส้นทางที่ประชาชนในกลุ่มตัวอย่างต้องการให้เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก คือ เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ลำดับที่ 2 เป็นเส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ลำดับที่ 3 เป็นส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน และลำดับที่ 4 เป็นเส้นทาง กรุงเทพฯ – ระยอง ซึ่งในตอนนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจ ในเรื่องแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง(High Speed Rail) และเป็นที่จับตามองอย่างมาก เพราะส่งผลต่อการลงทุนของนักลงทุน และแนวโน้มการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากผลสำรวจประชาชนยังคงสนใจรูปแบบที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมมากกว่า 50% และอีก 50% ที่เหลือ สนใจบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ตามลำดับโดยหากเกิดเส้นทางตามโครงการแนวรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทางนี้ อาจส่งผลให้นักลงทุนเก็งพื้นที่ทำเลทองตามแนวโครงการ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาในมุมมองนักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า “สิ่งแรกที่ผู้พัฒนาโครงการ หรือ Developer มองคือเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ที่จะเกิดขึ้น หากมีแนวโน้มสูงและกำหนดสถานีที่ชัดเจน การพัฒนานั้นก็จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนตามไปด้วย โดยเฉพาะหัวเมืองต่างๆ ที่เป็น Destination ซึ่งบริเวณรอบๆ สถานีปลายทางก็จะเกิดการพัฒนาก่อนเป็นลำดับแรก ราคาที่ดินจะสูงขึ้น และมีการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในบริเวณนั้น เช่น Commercial, Residential, Office Building รวมถึง Community Mall ต่างๆ แต่เส้นทางในแต่ละเส้นก็ไม่ได้มีเพียงสถานีปลายทางจุดเดียวที่เป็นจุดสนใจ เพราะในแต่ละจังหวัดใหญ่ๆ ที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านนั้น จะเกิดการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณรอบสถานีย่อยเหล่านั้น และสิ่งที่ตามมาจากการพัฒนาตามเส้นทางสถานีรถไฟความเร็วสูง คือประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ เพราะเมืองเกิดการขยายมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเก่า ชุมชนจะขยายมารอบๆ สถานี มีการค้าขาย เกิดเมืองใหม่ และรายได้มีความสะพัดเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าราคาที่อยู่อาศัย และที่ดินก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสของนักลงทุน และนักพัฒนาในขณะนี้ที่จะเข้าไปจับจองพื้นที่บริเวณรอบๆ สถานีรถไฟความเร็วสูงเพื่อเป็น Land Bank นั่นเอง”
ในขณะนี้ได้มีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นก่อนเป็นเส้นทางแรก แต่ในมุมมองของนักพัฒนา มองว่าเป็นเส้นทางที่ยากที่สุด เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา ทำให้มีความยากลำบากในการสร้างแนวรถไฟความเร็วสูงมากกว่าเส้นทางอื่น ประกอบกับเป็นเส้นทางระยะยาวถึง 745 กิโลเมตร ส่งผลให้มีความยาวนานเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่หากเส้นทางนี้ดำเนินการเป็นเส้นทางแรก จะคุ้มค่าแก่การลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางระยะไกล และประชาชนจำนวนมากจะได้รับประโยชน์จากเส้นทางนี้ในการเดินทาง การจัดการการขนส่ง (Logistics) และลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมัน อีกทั้งผ่านจังหวัดใหญ่ๆ หลายจังหวัด ส่งผลให้เกิดเมืองใหม่ มีการกระจายตัวของชุมชนอย่างชัดเจน เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง เป็นต้น และอีกเส้นทางหนึ่งที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั่นคือ กรุงเทพ-หัวหิน เพราะเส้นทางนี้ จะผ่านจังหวัดท่องเที่ยวอย่าง สมุทรสงคราม (แม่กลอง) และเพชรบุรี ก่อนที่จะไปถึงสถานีปลายทางหัวหิน ทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในจังหวัดต่างๆ เหล่านี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิมอยู่แล้ว ทำให้นักพัฒนามีความเสี่ยงไม่มากหากลงทุนในธุรกิจโรงแรม หรือศูนย์การค้า ส่วนเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง ที่เห็นได้ชัดสำหรับเส้นทางนี้คือการทำนิคมอุตสาหกรรม มีชาวต่างชาติเข้าไปทำงานค่อนข้างมาก บริเวณรอบๆ สถานีรถไฟความเร็วสูงจะเกิดโรงแรม ศูนย์การค้า เพื่อมารองรับความต้องการของชาวต่างชาติ นอกจากนั้น เส้นทางนี้ยังผ่านพัทยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูง จะเกิดการพัฒนามากขึ้นไปอีก เพราะการเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น และสุดท้ายเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช เส้นทางนี้มีแหล่งท่องเที่ยวเพียงแหล่งเดียว คือ เขาใหญ่ ถึงแม้ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ก็ตาม แต่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเท่าใดนัก นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ กล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าเส้นทางใดจะเกิดขึ้นก่อน ในทุกเส้นทางนั้นย่อมเกิด Oriented Mixed Use Development กล่าวคือ ย่อมเกิด Retail (การค้าขาย), Residential (ที่อยู่อาศัย), Hotel Uses (โรงแรม,ที่พัก), Office (อาคารสำนักงาน) และ MICE: Meeting Incentive Conference and Exhibition (การประชุม) เมื่อทั้ง 5 สิ่งนี้เกิดขึ้นนั่นหมายถึงทุกพื้นที่ย่อมมีการพัฒนาตามไปอย่างแน่นอน และสิ่งที่ประชาชนจะได้รับในลักษณะกายภาพคือ ความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการเดินทาง หากแต่มุมมองของนักลงทุนจะเกิดมูลค่าในอนาคต นับเป็นกำไรในการลงทุนของชีวิตระยะยาว หรือ Long Term Investment นั่นเอง-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit