กรมป่าไม้ คึกฝึกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 4 ภาค เพื่อเป็นวิทยากรอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ประชาชนคนกล้าที่มีจิตอาสาในการป้องกันรักษาป่าผู้รักษา

05 Feb 2013

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กรมป่าไม้

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรม หลักสูตรวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ว่า กรมป่าไม้ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้คนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ได้ผลและประสบความสำเร็จ คือ “โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า”

โครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า หรือ รสทป. เป็นโครงการตามแนวพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการว่า “...หากคนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ป่านั้นมีความเข้าใจว่า การพิทักษ์ป่า คือการรักษาชีวิต ของเขาเองแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะดูแลรักษาป่าไม้ด้วยความเต็มใจ เมื่อป่าได้รับการดุแลรักษาเป็นอย่างดีแล้ว ป่าก็จะอำนวยประโยชน์กลับมาให้พวกเขาอย่างประมาณค่ามิได้ และเมื่อพวกเขาได้รับประโยชน์จากป่าอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะมีกำลังใจในการดูแลรักษาป่ามากยิ่งขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ” แนวพระราชดำริดังกล่าวนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนทัศนคติของราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่า มาเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหยุดยั้งการทำลายป่า

ด้านนางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการและควบคุมป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวหลังเป็นประธานปิดการอบรมและมอบประกาศนียบัตรให้กับข้าราชการกรมป่าไม้ในท้องที่ภาคเหนือ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยากรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ว่า กรมป่าไม้ได้เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทั้ง 4 ภาค โดยภาคกลางอบรมที่จังหวัดเพชรบุรี ภาคเหนือที่พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นครราชสีมา และภาคใต้ที่สุราษฎรธานี ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 2 ภาค ที่เหลือคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงป่าในพื้นที่ที่รับผิดชอบ “ทำอย่างไรให้คนกับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยคนได้รับประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันป่าก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่หน้าที่ดูแลป่า มาเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำ ให้การส่งเสริม สนับสนุน ให้องค์ความรู้ กำกับดูแล ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและชุมชน ซึ่งการอบรมดังกล่าวนี้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่กรมป่าไม้ใช้ในการสร้างแนวร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่ยั่งยืนและมั่นคงตลอดไป” นางอำนวยพร กล่าว

-กผ-