กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--Market-Comms
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เอพีอาร์ อบรมสัมมนา บริษัท มาร์เก็ต-คอมส์ จำกัด ได้จัดงานประชุมด้านการสื่อสารระดับชาติครั้งที่ 1 เรื่อง การบริหารสื่อสารเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร โฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการบริหารสื่อสารการตลาด รวมทั้ง จุดประกายแนวความคิดสำหรับการสื่อสารให้แก่องค์กรในการกำหนดเป้าหมาย การวางแผนด้านการสื่อสาร การตลาด ในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานดังกล่าวกว่า 500 ราย
รศ.กรรณิการ์ อัศวดรเดชา หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน กล่าวว่า “การรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเชียนนี้ จะทำให้ขนาดตลาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากร เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี อีกทั้งยังทำให้เกิด Economies of Scale หรือ การประหยัดจากขนาดการผลิต โดยผลิตจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง อุปสงค์จะเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้คู่แข่งเพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและลดจุดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการสื่อสาร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เราจะต้องปรับมุมมองจากการสื่อสารกับคน 70 ล้านคนไปเป็น 600 ล้านคน ในขณะเดียวกันในคนกลุ่มใหญ่นี้ ยังมีการแบ่งแยกย่อยเป็นกลุ่มสังคมเล็กๆ อีกมากมาย แบ่งตามรูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรม ภาษา จะเกิดความซับซ้อนในทุกมิติ นักการสื่อสารจะต้องหากลุ่มเป้าหมาย และหนทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ รวมทั้ง การใช้สื่อดิจิตัลจะมีบทบาทสูงมากขึ้น” แนวโน้มของการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุด รวดเร็ว และเกิดผลด้านการสื่อสารมากที่สุด คือ การใช้สื่อเคลื่อนที่ (Mobile) อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone หรือ Tablet เป็นต้น เพราะมีความสะดวกสบาย ฉับไว และเรียบง่าย รวมทั้งนักสื่อสารสามารถโต้ตอบกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ตามความต้องการแต่ละคน ขณะเดียวกัน ทุกคนก็สามารถจะเป็นนักสื่อสารมวลชนได้ สร้างข่าว สร้างกระแสกันเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องระมัดระวัง เพราะทุกสิ่งที่สื่อสารออกไป โดยเฉพาะ Viral Video หรือ Viral Audio สามารถสร้างได้ทั้งชื่อเสียงและความเสียหายให้กับแบรนด์หรือองค์กรได้
นอกจากนี้ คุณสราวุธ บูรพาพัธ ประธานบริหาร เอพีอาร์ อบรมสัมมนา บริษัท มาร์เก็ต-คอมส์จำกัด และประธานร่วมจัดงาน กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการบริหารการสื่อสารว่า “ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน อยากจะให้แต่ละองค์กรพิจารณาใน 2 ประการ
ประการแรก คือ การเตรียมความพร้อมขององค์กร หมายรวมถึง การสร้างและพัฒนาแบรนด์ขององค์กร เพราะต่อไปไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่ ชื่อเสียงของแบรนด์ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และการเตรียมความพร้อมของบุคลากร มิใช่แต่เพียงนักสื่อสารเท่านั้น รวมถึงผู้บริหารและทุกคนในองค์กร ที่จะต้องเริ่มเรียนรู้ภาษาที่ 2 หรือที่ 3 อย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการพูดมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการสื่อสารสำคัญ อันได้แก่ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การบริหารความขัดแย้ง การบริหารประเด็น และการบริหารภาวะวิกฤต
ประการที่สอง คือ กลยุทธ์การสื่อสาร องค์กรจะต้องเริ่มพิจารณาได้แล้วว่า เมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเชียนแล้ว ตนเองจะอยู่ตรงไหนของตลาด เมื่อรู้แล้วจะทำให้สามารถวางแผนสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยกลยุทธ์การสื่อสารในอนาคต ควรมุ่งเน้นที่ ประเด็น หรือ ข้อความหลัก (Key Message) ควบคู่ไปกับเครื่องมือ หรือ วิธีการ เพราะข้อความหลักที่ดี จะมีพลังต่อการจดจำแบรนด์ในกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกัน เครื่องมือ หรือ วิธีการ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายสนใจแบรนด์นั้นได้”
“สุดท้ายนี้ การเตรียมความพร้อมของแต่ละองค์กรธุรกิจ จะสามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หากได้รับข้อมูลและแนวทางการบริหารจัดการในแต่ละธุรกิจจากแบบพิมพ์เขียวของไทยสู่ AEC ซึ่งปัจจุบันรัฐกำลังดำเนินการอยู่ แต่ถ้าสามารถนำมาเปิดเผยให้แก่สาธารณชนได้โดยเร็ว ก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจแต่ละส่วนดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีหรือสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของรัฐในแต่ละปีได้เป็นอย่างดี” รศ.กรรณิการ์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจเทปบันทึกการจัดงานดังกล่าว และรายละเอียดข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการบริหารสื่อสาร สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดได้ที่ www.aprtraining.com และ www.thailandcommunicationforum.com
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit