กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กสทช.
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ สำนักงาน กสทช. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็นต่อ (ร่าง) แผนงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาส โดยมีหน่วยงานวิชาการต่างๆ อาทิ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) สำนักส่งเสริมพิทักษ์ผู้สูงอายุ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งกลุ่มคนพิการด้านต่างๆ ผู้สูงอายุ และคนด้อยโอกาส จากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยภาพรวมของแผนงานส่งเสริมและสนับสนุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฯ แบ่งเป็น ๕ ด้าน ดังนี้
๑. การกำหนดมาตรการเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้ คนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาสเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
๒. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาส ในการเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์ได้อย่างเสมอภาค เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
๓. การส่งเสริมให้ผู้ผลิตเครื่องรับและอุปกรณ์จัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
๔. การพัฒนาศักยภาพคนพิการ คนสูงอายุ และคนด้อยโอกาสให้มีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้
๕. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
กสทช. สุภิญญา กลางรณรงค์ ประธานในการประชุมเปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อคไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล ซึ่ง กสทช. ก็คงจะได้พิจารณาและคำนึงถึงบริการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio description) บริการเสียง บรรยายใต้ภาพ (Spoken Subtitling) บริการคำบรรยายใต้ภาพ (Closed Caption) และจอล่าม (Sign Language) ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนพิการ คนสูงอายุ และคนด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อผู้ประกอบการให้จัดแบ่งสัดส่วนรายการต่างๆ อย่างเหมาะสม และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเนื้อหาและบริการที่ให้ความรู้และสามารถตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้ชม เช่น มีการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณ หรือ Set-top box สำหรับทุกบริการ (Universal Design) โดยให้สามารถรองรับบริการต่างๆ สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสได้ รวมทั้งให้มี Hard Disk เพื่อเรียกดูข้อมูลย้อนหลัง หรือปรับบริการคำบรรยายใต้ภาพให้ช้าหรือเร็วตามความต้องการของผู้ใช้บริการ อีกทั้งมาตรฐานทางด้านเนื้อหาและบริการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงสำหรับกลุ่มคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาส กสทช. สุภิญญาฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลการประชุมครั้งนี้จะเป็นข้อมูลให้กับทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) นำไปพิจารณาและผลักดันเพื่อให้เกิดการกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาเทคโนโลยีการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการฯ ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง อาทิ การเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาเนื้อหาและบริการสำหรับคนพิการที่เหมาะสมหามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนพิการ คนสูงอายุ หรือคนด้อยโอกาสในการผลิตเนื้อหาและบริการ การผลักดันให้มีโทรทัศน์สาธารณะที่บริการคนพิการทุกประเภท เป็นต้น ทั้งนี้ จะได้จัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่งสำหรับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ในการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีเป็นระบบดิจิตอลครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญ ซึ่งจะส่งเสริมให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ได้
-นท-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit