กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สสส.
มีโอกาสร่วมฟังธรรมจากพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ในงาน “พลังแห่งสุขแท้” สรุปผลและถอดบทเรียน “โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา” เมื่อต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พลันบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ ได้ลองถามเป็นการส่วนตัวกับท่านว่า หาก “ปลายทาง” ของกิจกรรมสุขแท้ด้วยปัญญา คือความสุขที่แท้จริง แบบไม่พึงวัตถุหรือลาภลอยคอยโชค เช่นนี้แล้วควรจะทำอย่างไรให้คน “ส่วนใหญ่” ปรารถนาที่จะกระทำเช่นนั้น ค่าที่ว่า ใคร ๆ ก็อยากได้-อยากเป็น โดยที่ยิ่งเร็วเท่าไรย่อมยิ่งดีมิใช่หรือ?
“พระไพศาล” ยิ้มเป็นส่วนใหญ่ ราวทดแทนคำอธิบายที่ไม่มากจำนวนคำ เช่นนั้นสิ่งที่ตอบดูไม่ซับซ้อน เข้าใจไม่ยาก ทว่ารูปธรรมแห่งการปฏิบัติขึ้นอยู่ที่ใครเชื่อและฝึกฝน
ตอนหนึ่งท่านเปรียบว่า การหาความสุขทางใจไม่ต่างอะไรกับ “วิตามิน” ด้วยห้วงขณะที่ร่างกายต้องการโปรตีน พลังงานซึ่งดูเหมือนเป็นอาหารหลักแล้ว ความเป็นวิตามินนี่เองที่ทำให้ร่างกายมีความสมดุล สร้างภาวะปกติต่อการดำรงชีวิตได้
การสร้างปัญญาแห่งความสุขนี่ก็เช่นกัน ถึงจะเป็นเรื่อง “กระแสรอง” เมื่อเทียบกับความมั่งมีทางเศรษฐกิจหรือหนทางสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าไม่มีมันเลยเห็นจะเป็นไม่ได้ เพราะความสุขแบบที่ว่าซ้อนทับกับ “ความดี”ที่หล่อเลี้ยงจิตใจ ส่วนจะผลักจากมวยรองให้เป็นเรื่องหลักจนคนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามเมื่อใด อยู่ที่ผลของงาน การชี้ให้เห็นความสำคัญ ให้ความถูกต้องอยู่เหนือความถูกใจ
“ครั้งหนึ่งทุนนิยมไม่ใช่เรื่องกระแสหลัก หากเมื่อมีคนต้องการมากขึ้น ให้มูลค่ากับมัน เมื่อนั้นเรื่องที่เป็นรองก็กลายเป็นเรื่องหลัก ใครๆก็พยายามไขว่คว้า”พระไพศาลกล่าวอธิบายในอีกมุมหนึ่ง
“หน่อย” อาริยา โมราษฎร์ กลุ่มอาสาศูนย์ศึกษาศิลปะธรรมชาติเด็กรักป่า จ.สุรินทร์ ในอีกฐานะผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากกว่า8ปี บอกหลักกิจกรรม “สุขแท้แม้ฟอกไต” ซึ่งอยู่ในชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา โดยเครือข่ายพุทธิกา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า เป็นโครงการที่นำนักเรียน นักศึกษา เยาวชนของศูนย์ศิลปะธรรมชาติเด็กรักป่าและผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจากหน่วยไตเทียมโรงพยาบาลสุรินทร์มาทำกิจกรรมร่วมกัน
ทั้งนี้จุดประสงค์หลักคือแลกเปลี่ยนความรู้สึกระหว่างกัน กล่าวคือเยาวชนคนหนุ่มสาวมาเรียนรู้ สดับฟังประสบการณ์ป่วยไข้ ความสุข ความทุกข์ ของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เวลาเดียวกับที่ความหนุ่มสาวนี่เองได้มอบความสดชื่นกับผู้ป่วยไปพร้อมๆกัน “การเดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อฟอกไตไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอน แต่เมื่อเราป่วยแล้ว เราก็ต้องยอมรับความจริงให้ได้และเดินต่อไป ไม่ไปทุกข์เรื่องข้างหลังและทุกข์ไปข้างหน้า ต้องเปิดตัวเองและกล้าจะพูดคุยกับคนรอบข้าง เพราะประสบการณ์แม้จะออกจากปากผู้ป่วยแต่ก็สร้างคุณประโยชน์ เยาวชนเองจะได้เรียนรู้จากเรื่องเหล่านั้น ผู้ป่วยจากที่คิดว่าไร้ค่าก็กลับมามีคุณค่า เยาวชนเองเมื่อได้เรียนรู้แล้ว เขาเองก็กลายเป็นผู้ให้ ได้ทำกุศลกับคนเจ็บป่วย เขาก็มีความสุข”อาริยา อธิบาย
ส่วนประเด็นความเป็นกระแสรอง เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นที่สังคมเทิดทูนมากกว่า “เธอ” บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ผลงานของพวกเธอจะถูกประทับใจและรับรู้กับไม่กี่กลุ่มคน หากแต่ตลอด3-4 ปีที่เต็มใจทำกิจกรรม นั่นก็เพราะ “เชื่อมั่น”ว่าเนื้องานคือส่วนหนึ่งของ “เรื่องดี” ในชุมชนของตัวเอง ซึ่งแน่ว่าเรื่องเหล่านี้คือความสุขที่เงินทองซื้อไม่ได้มิติทางจิตใจยังอธิบายได้ดีในกิจกรรม “กลับสู่ต้นน้ำ” ของกลุ่มสามศาสน์ด้วยรูปแบบของการสร้างประสบการณ์ ซึ่งออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนต่างศาสนา ไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม ได้เผชิญบทเรียนชีวิตร่วมกัน ทั้งสุข ทุกข์ เผชิญความทุกข์ยาก กระทั่งเข้าใจความเรียบง่าย ก่อนจะจัดหมวด สรุปหลักคิดตามแต่หลักศาสนาของตัวเองเพื่อท้าทายค้นหาสมการความเหมือนและต่าง ของแต่ละคำสอนของศาสนาประหนึ่งการแสวงหาจุดร่วม เข้าใจความแตกต่างที่มีอยู่จริงในสังคม
ครูปุ๊-วนิดา ลอยชื่น อดีตแม่พิมพ์โรงเรียนคริสต์ ผู้จัดกิจกรรม อธิบายเสริมว่า นอกจากทักษะชีวิตที่เยาวชนจะได้จากการปรับตัว ถ่ายโอนประสบการณ์จากเพื่อนที่ต่างออกไปแล้ว เขาจะกลับมาทบทวนตัวเองด้วยศูนย์กลางแห่งหลักคิดทางศาสนาที่สอนให้ประพฤติในสิ่งที่เหมาะสมอันมีมาแต่เดิมเป็นการสำรวจสติ ให้เท่าทันจิตใจของตัวเองก่อนไปสู่ขั้นตอนที่จะใช้ปัญญาสรรหาสิ่งดีๆเพิ่มวิตามินชีวิตในโอกาสข้างหน้าต่อไป
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit