กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กรมควบคุมโรค
สธ.มั่นใจระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ชี้การระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3ไทยไม่เสี่ยง แต่ไม่ประมาท
ปัจจุบันสถานการณ์โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำโดยเฉพาะโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เห็นได้จากการค้นพบเชื้อโรคชนิดใหม่ๆ หรือแม้เป็นโรคชนิดเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วแต่ก็มีการกลายพันธุ์ของเชื้อและส่งผลทำให้มีอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเพิ่มขึ้นและการเคลื่อนย้ายของประชากร ทำให้การระบาดและแพร่เชื้อโรคต่างๆเกิดขึ้นได้ง่าย ล่าสุดคือการระบาดใหญ่ของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 ในประเทศเม็กซิโกที่ทำให้กระทรวงเกษตรเม็กซิโกต้องสั่งฆ่าไก่ไปแล้วถึง 8 ล้านตัว และต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ไก่อีก 66 ล้านตัว รวมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันไม่ให้โรคไข้หวัดนกเกิดการแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง เนื่องจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 ถือเป็นไวรัสในกลุ่มไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกที่มีความรุนแรง เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งไวรัสไข้หวัดนก H7N3 เป็นสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อจากสัตว์ปีกไปยังมนุษย์ได้ แต่ยังไม่พบรายงานว่าสามารถติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ในขณะที่ทางการของประเทศเม็กซิโกได้จับตาเฝ้าระวังไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 อย่างใกล้ชิด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ประมาณร้อยละ75 มาจากสัตว์ หากเกิดการติดเชื้อในสัตว์โรคอาจแพร่ระบาดมาสู่คนได้ง่าย เช่น โรคไข้หวัดนก โ รคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งโรคใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น การระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 ที่ประเทศเม็กซิโก กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย การจัดการที่มีประสิทธิผลทันการณ์ เมื่อเกิดภัยพิบัติ โรคระบาด และภัยสุขภาพ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการป้องกันควบคุมโรคที่อาจจะเกิดขึ้น และจำเป็นต้องมีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานในภาคเอกชนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับพื้นที่ ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรค การเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้มาจากสัตว์ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องในสังกัดและเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ไข้หวัดนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการ รพสต. และ บุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ดำเนินการนโยบาย 6 ในข้อ คือ 1.เร่งรัด อสม.ช่วยเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที 2.ร่วมมือเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้หวัดนก โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ ดูแลการนำเข้าสัตว์ปีกในบริเวณชายแดน แนะนำการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดภัยในชุมชน หากพบการระบาดในสัตว์ต้องรีบแจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมการดูแลผู้ป่วยทันที 3.แจ้งเตือนประชาชนระวังภัยไข้หวัดนก ได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ทั้งการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากสัตว์และการป้องกันสัตว์ปีกให้ปลอดภัยจากไข้หวัดนก 4.เพิ่มการตรวจจับการระบาดทางห้องปฏิบัติการ โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อพบผู้ป่วยปอดบวมร่วมกับประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือปอดบวมเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ 5.รีบสอบสวนโรค โดยทีม SRRT เมื่อพบหรือได้รับรายงานว่าพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก 6.ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรองและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึง นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 ในสัตว์ปีกที่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจติดต่อมาสู่คนนั้น หากประเมินแล้วไทยยังไม่อยู่ในความเสี่ยงแต่ก็ไม่ประมาท เนื่องจากประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเร่งรัดตามมาตรการและมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556 - 2559) ต่อเนื่องมาจนถึงฉบับปัจจุบัน
ซึ่งมีทั้งยุทธศาสตร์พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health โดย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านโรคระบาดกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดต่างๆทั้งในและต่างประเทศร่วมกันมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสัตว์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ มีการจัดการระบบการเลี้ยงและการดูแลสุขภาพสัตว์และสัตว์ป่าให้ปลอดโรค การพัฒนาระบบจัดการความรู้ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา การพัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่
รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่าสำหรับมาตรการเฝ้าระวังไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 นั้น ไม่ได้ห้ามคนไทยเดินทางไปยังประเทศที่เกิดการระบาดของโรค และไม่ได้ห้ามคนจากประเทศที่เกิดโรคระบาดเดินทางเข้ามาประเทศไทย แต่จะมีการจับตาเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยง ดูแลการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีก การสุ่มตรวจสัตว์ปีกที่ป่วยตาย ซึ่งมีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการสร้างระบบการดูแลคน การเตือนภัยข่าวสารสุขภาพ การเก็บข้อมูลประวัติการเกิดโรค การเพิ่มขีดความสามารถของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการส่งทีม เข้าไปควบคุมโรค โดยต้องมีการประสานงานและประชุมเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวสารมากเกินไปเนื่องจากโรคไข้หวัดนก ยังไม่ได้มีการแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนง่ายดายนัก ที่สำคัญคือ ไม่ประมาทโดยต้องตระหนักและรู้จักป้องกันตนเอง เช่น การรักษาสุขอนามัย รักษาร่างกายให้แข็งแรง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อย่าลืมว่า โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำเหล่านี้ป้องกันได้ด้วยตนเอง รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวทิ้งท้าย...
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit